” เราคงตอบคำถามได้ไม่หมดว่าอินเดียเต็มไปด้วยกี่สี และคงนับได้ไม่หมดว่าแต่ละสีนั้นถูกแบ่งออกเป็นกี่เฉด เรื่องราวของอินเดียในครั้งนี้ ถือว่าเพิ่มมุมมองและความเข้าใจต่อหลายๆสิ่งให้กับเราเหมือนกัน บางทีอาจเรียกว่าปรับสิ่งที่เรารู้จักไปเลยก็ได้ ..”
อินเดีย เป็นอีกประเทศนึง เราอยากจะไปมากๆ แต่การเดินทางที่ดูเหมือนลำบาก ทำให้เราฉุกคิดอยู่บ่อยๆว่าจะไปยังไงดี เมื่อได้รู้ว่า Thai AirAsia เปิดเส้นทาง บินตรง ดอนเมือง-โกลกาตา เราจึงใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจ ที่จะไปสัมผัสอินเดียด้วยตัวเอง ! และเราพึ่งรู้ว่า จากกรุงเทพถึงอินเดียใช้เวลาเดินทางไปเพียงแค่ 2 ชั่วโมงกว่าเท่านั้นเอง เรียกได้ว่า เร็วพอๆกับไปเชียงใหม่ ไม่น่าเชื่อเลยใช่มั้ยล่ะ ว่าเวลาเพียงเท่านี้ เราก็จะได้พบกับประเทศสุดแสนจะเซอเรียลแล้ว 🙂
ก่อนหน้านี้เรารับรู้เรื่องราวของอินเดียผ่านหลายๆสื่อ ส่วนมากภาพที่เห็น ก็หนีไม่พ้นความพลุกพล่าน จอแจ สกปรก หรือแม้แต่เรื่องอันตรายต่างๆ รวมถึงถูกตอกย้ำจากผู้คนรอบตัว ที่คงได้เห็นอินเดียในแบบเดียวกัน ว่ามันอันตรายขนาดไหน
คงเพราะการรับฟังสิ่งต่างๆมา เรื่องราวของอินเดีย จึงค่อนข้างติดกลายเป็นภาพจำอยู่ในความคิดและใจของเรา วันแรกที่มาถึงที่นี่ “ภาพจำ” มันจึงกลายเป็นตัวร้ายที่ทำให้ประหม่าในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับอะไรใหม่ๆ เราค่อนข้างทำอะไรไม่ถูก ยังไม่กล้ายิ้ม หรือกล่าวคำทักทาย ‘เค้าว่ากันว่า’ อย่ายิ้มมั่วซั่วให้คนที่นี่นะ อันตราย อย่าทำนู่นนี่นะ มันจึงกลายเป็นกรอบที่น่ารำคาญของเราในวันแรกนี้เลย
ที่อินเดียมีค่าเงินคือ รูปี และเราสามารถแลกเงินอินเดียมาจากประเทศไทยได้เลย ด้วย Superrich สีเขียว ค่าครองชีพที่นี่จะถูกมาก ส่วนใหญ่เป็นหลักหน่วย แลกแบงค์ใหญ่มาแล้วก็แนะนำให้แตกเป็นแบงค์เล็กหรือเหรียญด้วย เพราะส่วนใหญ่ราคาที่ต้องจ่ายจะอยู่แค่หลักสิบเอง
ในวันแรก เราจึงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการเรียนรู้ระบบขนส่งและการเดินทางเบื้องต้น จากรุ่นน้องที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่โกลกาต้านานหลายปี ความโกลาหลของท้องถนน ทำให้เรากระอักกระอ่วนอยู่บ้าง เสียงแตรที่ยังไม่ชิน ทำให้เราตกใจมากในบางครั้ง จนได้รู้จากน้องว่า ที่นี่หากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ‘ใครบีบแตรช้ากว่า..ผิด’ แค่กฏหมายแรกที่ได้รับรู้มาก็หรรษาซะแล้ว นาทีนี้เราเริ่มอยากรู้จักอินเดียมากขึ้นแล้วหละ
ใครที่มาอินเดีย ส่วนใหญ่คงเลือกการเดินทางโดย Taxi แต่ครั้งนี้เราตกลงกับเพื่อนว่าเราจะเลือกเดินทางด้วยวิธีที่คนที่นี้ใช้กันจริงๆ เพราะเราอยากจะสัมผัสความ Real ของชาวอินเดียให้ได้มากที่สุด หลายคนคงติดภาพอินเดีย ที่มีคนเบียดเสียดกันบนรถเมล์หรือรถไฟเยอะๆ เบียดจนตัวติด ไม่แปลกที่เราจะมีภาพนั้นในหัวเหมือนกัน แล้วการผจญภัยก็เริ่มเกิดขึ้น เมื่อตอนที่เราได้นั่ง Auto เป็นอย่างแรก จุดหมายของเราวันนี้ก็คือ New market + Park Street
Auto มีลักษณะเหมือนตุ๊กๆ บวกกับรถสองแถว คือมีขนาดเล็กเหมือนตุ๊กๆ แต่จะรอจนคนขึ้นเต็มเหมือนสองแถว หรือนอกเสียจากจะเหมา 5 คน เค้าก็จะออกให้เลย ซิ่งและซ่อกแซ่กคล้ายตุ๊กๆบ้านเรา แต่เรารู้สึกเหมือนว่าจะเร็วกว่าซะอีกอาจเพราะมันบางกว่าก็ได้ ราคาจะอยู่ที่ไม่เกิน 10 รูปี (5บาท) ซึ่งสามารถนั่งไปได้ไกลมากๆเลยนะ บางทีก็ถูกกว่านั้นอีก แล้วแต่ความสามารถในการต่อราคา (ไม่มีภาพออโต้เลย ลืมถ่ายไว้ 55)
ในตอนที่ถึงสถานี รถไฟใต้ดิน ภาพของรถไฟอินเดียใน ภาพจำ ก็โผล่มา แต่เราก็ต้องรีบสลัดทิ้ง เพราะไม่งั้นจะทำให้เราไม่กล้าขึ้นมันสักที แล้วเราก็ได้เจอภาพรถไฟ ลักษณะเหมือนรถไฟไทย แต่ถูกย้ายมาอยู่ใต้ดิน อยากจะถ่ายรูปกันไว้มาก แต่ที่นี่ห้าม แอบก็ไม่ได้ อย่าไปฝืนกฏของเค้าเลยเนอะ พอรถไฟมา ก็พบว่าคนไม่ได้เยอะ และไม่มีกลิ่นอย่างที่ใครชอบมาเล่า ตอนนั้นยังคิดว่า ใส่ร้ายอินเดียทำไมมม เค้าไม่ได้มีกลิ่นตัวแรงกันเลย เราเดินทางโดยสวัสดิภาพ ด้วยงบประมาณ 5-15 รูปี หรือประมาณ 3-7 บาท เท่านั้นเอง
บรรยากาศที่ New market มีลักษณะคล้ายๆตลาดนัดเปิดโล่งขนาดใหญ่ มีผ้าขายในราคาที่ถูกมาก มีของกินให้เลือก และที่นี่ก็ทำให้เราได้ทดลองชิม ‘ไจ’ ไจคือชานมขึ้นชื่อของอินเดีย เป็นชาที่ขายเป็นแก้วเล็กๆ แก้วละ 5-7 รูปี บางที่มีการเพิ่มกลิ่นขิง เสริฟท์แล้วต้องดื่มเลย ธรรมเนียมของการกินไจคือการปาแก้วดินที่ใส่ไจมา ลงพื้นให้มันแตก แต่เราไม่เคยทำมันแตกได้เลย 55 ไจมีให้เราเห็นอยู่ตลอดทางเดิน เป็นเหมือนสิ่งที่พวกเค้าดื่มกันเป็นประจำ ในตอนนั้นที่เราได้ลองดื่ม เราก็ไม่รู้จริงๆว่าเราจะติด ‘ไจ’ จนเกือบจะกินมันวันละ 5 แก้ว
การเดินทางอีกอย่างที่เราได้ลองในวันนี้ ก็คือการเดินทางด้วย Rick shaw Rick shaw คือการขนส่งโดยใช้คนลาก แต่คนที่ว่านี่มักจะเป็นคุณลุง บางทีก็คุณตา Rick shaw จะสามารถนั่งได้แค่ 2 คนเท่านั้น และเหมาะกับการเดินทางในระยะที่ไม่ไกลมาก เช่นจาก New market ไป Park street ระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร ทางที่ดีอย่าเลือกคนที่แก่มากนะ เราเคยเกิดเหตุการณ์ขอลงกลางคัน เพราะเราสงสารคนลากมากๆ ราคาของ Rick shaw จะอยู่ที่ประมาณคนละ 20 รูปี หรือคันละ 40 รูปี ถ้าเค้าเห็นเราเป็นนักท่องเที่ยว อาจจะมีการขึ้นราคา เป็นคันละ 100 รูปี บอกไปว่า เนๆ ( เนแปลว่า โนๆ หรือไม่เอาๆ ) ยังไงเราก็ต้องต่อสู้ให้ได้ราคานี้มาเท่านั้นนะ
ช่วงเย็น เราได้ไปที่ Park street ถนนเส้นนั้นมีของขายอยู่เยอะมากเช่นกัน แต่จะเป็นของแบรนด์เนมขึ้นมาหน่อย เป็นที่เดียวที่มีไวไฟฟรี เพื่อให้เราได้ติดต่อกับโลกภายนอกบ้าง จนรุ่นน้องเราพาพวกเราไปกันที่ถนนเส้นนึง ซึ่งมีตึกสวย ๆ บรรยากาศที่เงียบสงบ ทำให้เราแทบจะไม่รู้สึกว่าพวกเราอยู่กันที่อินเดีย สถาปัตยกรรมต่างๆโดยรอบ มีสไตล์แบบอังกฤษ เมฆหมอกเริ่มลอยต่ำ กับความเย็นที่ได้สัมผัส ทำให้เรารู้สึกเหมือนเรากำลังอยู่กันที่ฝั่งยุโรปมากกว่า
อินเดียในวันแรกของเรา ยังไม่มีอะไรพิเศษมากนัก กรอบเล็กๆยังคงควบคุมให้เราทำตัวไม่ถูก ก่อนหน้านี้ เราได้คุยกับเพื่อนที่มาว่า ‘คนอินเดียเค้ามีความสุข ในคุณภาพชีวิตของพวกเค้าไหมนะ’ เพราะถ้าจะให้พูดตามความจริง หลายๆอย่างที่นี่ ก็ยังคงมีความล้าหลังอยู่บ้าง บางสถานที่ ดูคล้ายไม่ได้มีการบูรณะมานานมากแล้ว
พอหมดวัน เราได้ข้อสรุปกับเพื่อนอย่างตรงกันโดยไม่ต้องสงสัย เค้าไม่ต้องมีบ้านเมืองที่ใหม่ที่สวย คนอินเดียสามารถมีความสุขจากการที่เค้ามีเพียงเท่านี้แหละ ทุกคนยิ้มแย้ม ทุกคนแต่งตัวสวย ราวกับทุกวันเป็นวันรื่นเริง ทุกคนมีบ้านที่มีสีสันสวยงาม ทุกคนดูคล้ายมีหัวใจที่อิสระ และอินเดีย ดูน่ารักขึ้นเพราะมีคนอินเดีย การเรียนรู้แรกของเราพึ่งผ่านพ้นไป เรารีบเข้าห้องนอน เปิดม่านรับอากาศเย็น ก่อนจะเขียนบันทึกถึงอินเดียอีกครั้ง ว่าวันนี้ เรามองเห็นอินเดีย เป็นอินเดียที่มีสีชมพู
December 18, 2016
บันทึกถึงอินเดียสีชมพู
เราได้ลองเขียนบันทึกถึงภาพของอินเดียก่อนที่เราจะมาถึงจริงๆ ว่าเป็นยังไงบ้าง แล้วเราจะมาลองลิสท์ว่า เราคิดถูกแค่ไหนกัน พอเรามาถึง สิ่งที่คิดกับสิ่งที่เห็นมันค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร เราติดภาพว่าอินเดียต้องมีคนเบียดกันบนรถบัส ภาพในหัวคือคนเยอะจนต้องไปนั่งบนหลังคา เมืองที่อาจจะไม่ค่อยสะอาด แต่มันกลับไม่ใช่แบบนั้น..
อากาศดี จนเดินได้ทั้งวัน และเมืองมีสีสันมากมาย ทุกคนแต่งตัวอย่างสวยงาม ใส่ใจราวกับทุกวันเป็นวันรื่นเริง เพราะเราต้องใช้ชีวิตที่นี่อีกหลายวัน มันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตที่นี่แบบเบื้องต้น นี่คงเป็นจุดเริ่มต้นของอินเดีย หลังจากการได้หยุดสังเกตุเพื่อเรียนรู้ วันนี้เราก็ได้เห็นการรัวแตรที่ถูกกฏหมายบนท้องถนน รอยยิ้มของผู้คน วิธีการต่อราคาของสิ่งต่างๆ เราจึงเริ่มเข้าใจว่า อินเดียไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น และภาพต่างๆของมันที่เราจำ มันก็เลวร้ายเกินไป เพราะสิ่งที่เราเจอนั้น เราขอเรียกมันว่า ‘Place of joy’
วันที่สอง วันที่อะไรๆ ในใจของเรา มันถูกกระเทาะจนเริ่มจะหลุดไป เราเริ่มทักทายผู้คนที่อยู่ในซอยบ้าน เริ่มเห็นคนยิ้มให้ และวันนี้ เราเริ่มต้น ด้วยการเดินทางจากหลายๆอย่าง ตั้งแต่ Auto ไปที่ Metro และไปต่อที่ Taxi รวมถึงมีโอกาสได้นั่งรถเมล์อีกด้วย
ในทุกๆวันเราต้องวางแผนการเดินทางอย่างดี เพราะเราไม่มีซิมส์ ไม่มีแม้อินเตอร์เน็ตที่จะเอาไว้ดูแผนที่ เพราะที่นี่ถ้าจะใช้ซิมส์ ต้องรออนุมัติเป็นเดือนเลยทีเดียว และเราก็ไม่ได้เตรียมพ็อคเก็ตไวไฟกันมา ถ้าใครต้องการเดินทางมาอินเดีย ต้องเตรียมตัวสำหรับเรื่องนี้มาอย่างดีด้วยนะ
แท็กซี่พาเรามาหยุดตรงเป้าหมายที่ตั้งไว้ Botanical garden แต่สิ่งแรกที่ดึงความอยากรู้อยากเห็น ยังไม่ใช่สถานที่เป้าหมาย แต่กลับเป็นร้านขายไจเล็กๆข้างทาง ตรงข้ามมีร้านขายอาหาร ที่มีผู้คนกำลังนั่งทานอยู่เต็มไปหมด ในตอนนี้เราคงดูเป็นคนที่แปลก หรืออาจดูน่าขำ ทำให้ผู้คนที่อยู่ในร้านทั้งสองฝั่ง หันมามองแล้วอมยิ้ม จนเราทำอะไรไม่ถูก
เราตัดสินใจเดินเข้าไปหาคุณป้าที่กำลังขายอาหาร แล้วลองพูดว่า “Can i take your photo” พร้อมรอยยิ้มแบบเขินอาย ดูแกไม่ได้ตกใจ แต่แกกลับหัวเราะเสียงดัง กลายเป็นเราที่ตกใจซะเองมากกว่า เมื่อร้านค้าสองร้านตะโกนกันสนุก ปน ๆ ไปกับความงงของเรา เสียงนึงบอกให้เราถ่ายรูปป้าได้เลย เราจึงหยิบกล้องและถ่ายแกไว้ หลังจากนั้นอีกหลายเสียง ก็ขอให้เราถ่ายรูปเค้าเก็บไว้บ้าง
หลายคนเริ่มเดินมาหา ขอให้เราถ่ายรูปกับเค้า ทุกคนยิ้ม บางคนจับมือทักทาย เริ่มพูดคุย จนเราหายเกร็งไปบ้าง ทุกคนเป็นมิตรมาก ก่อนที่เราจะจาก เราได้ถือโอกาสขอถ่ายรูปรวมเก็บไว้ ทุกคนยินดีและรีบลุกขึ้นมากันหมด พวกเค้าเช็คแฮนด์ เป็นคำยืนยันถึงมิตรภาพเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ภายในเวลา 10 นาที
ถึงเวลาที่เราต้องเข้าไปที่ Botanical garden จุดหมายที่เราตั้งใจมาก ๆ ถึงกับยอมออกมานอกเมือง นั่นก็คือ The great Banyan tree มีค่าเข้าชมสวน 100 รูปี ด้านในจะมีสวนอื่นๆอยู่อีกหลายๆอย่าง เช่น สวนปาล์ม ไปจนถึงสวนใบบัวแผ่นใหญ่ๆ แผนที่บอกกับเราว่าเรายังต้องเดินเข้าไปอีกไกล ก่อนที่เราจะถึงจุดหมาย เราเลยเดินชมสวนอื่นๆไปด้วยในตัว ที่นี่เป็นสวนที่มีขนาดใหญ่มาก และที่นี่มี great banyan tree ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนต้องจดบันทึกไว้ในกินเนสท์บุคเลยหละ
จนเรามาถึงที่ Great banyan tree ด้วยความหวังว่าจะเจอต้นไม่ใหญ่ ก็ต้องจบลง เพราะมันดันปิด ซึ่งดูแล้วน่าจะปิดปรับปรุงมาพักใหญ่ๆ ความฝันที่จะได้เดินใต้รากไม้ ก็เป็นอันต้องพังลงไป เราสามารถเดินดูได้แค่ด้านนอกเท่านั้นเอง แต่ไม่เป็นไร ได้เห็นจากข้างนอกก็โอเคและ
ราว 3-4 โมงเย็น เราก็นั่งรถกลับมาที่ St. Paul cathedral ที่นี่เป็นโบสถ์ที่ตั้งตระหง่านและสวยงามมาก มีร่องรอยของกาลเวลา ที่เห็นได้จากสีที่เริ่มหลุดลอกไป บริเวณโดยรอบมีนักท่องเที่ยวเดินมาถ่ายรูปไม่ขาดสาย ตัวเราและเพื่อนก็ชมรอบๆโบสถ์ จนได้มาเจอคุณน้าท่านนึง ที่แต่งตัวด้วยชุดสาวอินเดียเกือบเต็มยศ เราไม่รีรอที่จะขอถ่ายรูป เค้ามีอาการเขินอายและดีใจ พร้อมหยิบผ้าที่ใช้คลุม นำมาพันไว้ที่บนศรีษะ หลายครั้งที่เราขอถ่ายรูป หากเค้ามีความยินดี เค้าจะทำแบบนี้ทุกครั้ง เรากล่าวคำว่า “ชูกรีย่า” ที่เราเรียนรู้มาว่ามันคือการกล่าวขอบคุณในภาษาฮินดี แม้เราจะไม่เข้าใจมากนัก แต่คุณน้ากลับมีรอยยิ้มกว้าง และการขำอย่างเอ็นดู ที่เห็นเราพยายามที่จะสื่อสาร ในรูปแบบของเค้า
ใกล้เวลาที่พระอาทิตย์จะตก มีอีกสถานที่นึงที่รอเราอยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งก็คือ victoria memorial ที่นี่เป็นอีกที่ที่มีคนมาเยี่ยมชมเยอะมาก ทั้งคนในประเทศ และต่างประเทศ ค่าเข้าชมคนละ 10 รูปี แต่สามารถอยู่ได้แค่ตรงสวนด้านนอก เพราะตัวอาคารนั้นกำลังปรับปรุง
วันนี้พระอาทิตย์กลมกว่าปกติแต่ไม่ได้มีแสงสว่างมากนัก พระอาทิตย์ค่อยๆตกพร้อมกับแสงอุ่น ๆ จุดที่เรายืนอยู่นั้นเป็นจุดที่คนมารอถ่ายรูปอยู่หลายคน เราถ่ายรูปบ้าง พักมองด้วยสายตาตัวเองบ้าง จนพระอาทิตย์เริ่มจะลับไป สิ่งที่เพิ่มเสน่ห์ให้กับที่นี่ยิ่งขึ้นไปอีกคงเป็นการฉายไฟไปยังตัวอาคาร ทำใหตัวอาคารที่สวยอยู่แล้วดูเด่นมากขึ้น
ขณะที่เรากำลังจะกลับไปที่บ้าน ก่อนเดินลงสถานีรถไฟใต้ดิน เราก็ได้พบกับตลาดกลางคืน ตลาดกลางคืนเล็กๆที่ขายอาหารและของต่างๆ ตอนนั้น แบตเตอรี่กล้องของเราเริ่มหมด เราจึงแทบจะไม่มีภาพถ่ายที่ตลาดแห่งนี้เลย ขณะที่เรากำลังตื่นเต้นกับสิ่งต่างๆที่เจอ ก็มีคุณน้าคนนึง เข้ามาทักทายและพูดคุยอย่างจริงจัง พร้อมเสนอตัวเลี้ยง ไจ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าบ้านที่ดี
หลายคนเริ่มเข้ามาพูดคุย เหมือนกับที่ต่างๆที่เราพบเจอมาวันนี้ พอเริ่มเป็นกลุ่มใหญ่ ความสนใจจึงเพ่งมาที่เรากลุ่มเดียว เริ่มมีการ Selfie ถ่ายรูป และพูดคุยกันมากขึ้น วันนี้ ภาพอินเดียที่ “เค้าว่ากันว่า” อย่ายิ้มมั่วซั่วให้คนที่นี่ ไม่อยู่ในใจเราอีกต่อไป มิตรภาพ เกิดขึ้นจากรอยยิ้มเล็กๆจากปากของเรานั่นเอง








ในวันนี้อีกสิ่งหนึ่งที่คนอื่นคอยบอกเราว่า ที่โกลกาตา หลัง 6 โมงเย็นให้รีบเข้าบ้านนะ มันอันตราย ในใจเราเริ่มค้านว่า มันไม่จริงงง ! เพราะเวลานี้ เป็นเวลา 4 ทุ่มแล้ว ที่นี่ก็ยังไม่หลับไหล ไม่มีที่ใดอันตรายถ้าเราสังเกต รอบคอบ และระวังตัวเองมากพอ คืนนี้ เราเขียนบันทึกอยู่นาน มองเวลาก็เกือบตีสามแล้ว วันนี้อินเดียสนุกจัง
December 19, 2016
บันทึกถึงอินเดียสีแดง
สีแดง คือสีที่ผุดเข้ามาในหัวของเราเมื่อพูดถึงอินเดีย มันอาจจะหมายความถึงอันตราย ความไม่ปลอดภัย หรืออะไรก็ตามแต่ แต่เราก็เผลอลืมไป ว่าจริงๆแล้วแม้แต่สีแดงนั้น มันก็ยังประกอบไปด้วยสีแดงหลายเฉด
สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ทำให้เรามีความรู้สึกกับสีแดงของอินเดียที่เปลี่ยนไป สิ่งที่เราได้พบเจอ สิ่งที่ผู้คนปฏิบัติ สิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกใหม่ ถ้าบอกตามความจริงการมาครั้งนี้ เราไม่คาดหวังอะไรเลย และค่อนไปทางเผื่อใจด้วยซ้ำ แต่สุดท้าย เราก็คิดว่าเราน่าจะพบความหมายที่แท้จริงในสีแดงของอินเดียว่ามันคืออะไร
การช่วยเหลือเกิดขึ้นทุกครั้ง ขอแค่เราเอ่ยปาก รอยยิ้มเกิดขึ้นทุกครั้ง ขอแค่เราเป็นผู้ที่มอบยิ้มนั้นก่อน ความจริงใจที่ผู้คนมอบให้ มันทำให้เราได้สัมผัสสีแดงเฉดนี้ด้วยตัวเอง ขอบคุณอินเดียมากนะ ที่ทำให้วันนี้เป็นวันที่ดีมากอีกวันนึง วันนี้เราเลยได้รู้สึก และได้เห็นสีแดงเฉดนี้ของอินเดียว่ามันคือ สีแดงแห่งความบริสุทธิ์
วันนี้เรามีแพลนจะไปที่ Flowers market เราเดินทางมาลงที่ howrah bridge ที่นี่เป็นที่ที่เราอยากมาที่สุดในทริปนี้ ด้วยความที่มันเป็นตลาดดอกไม้ มันจึงเป็นความจอแจที่ไม่ได้ดูเลวร้ายนัก เรียกว่า ครึกครื้น อาจจะเหมาะกว่า หลังจากลงจากบัส เราก็เริ่มสัมผัสได้ถึง Real india เริ่มเห็นคนอาบน้ำริมถนน เริ่มเห็นหลายชีวิตที่พึ่งตื่นในยามเช้า นาทีที่เราเดินข้ามสะพานเชื่อมไปตลาดดอกไม้ ที่ทั้งสองฝั่งวางขายสิ่งของ ทุกสายตาต่างจับจ้องมองเสมือนว่าเราเป็นอะไรที่ผิดแปลกอีกแล้ว แต่เมื่อเรายกกล้องแล้วพยักหน้า (พยักหน้าของที่นี่คือการเอียงคอไปข้างๆ ให้ความหมายเดียวกับการพยักหน้าเพื่อ say yes ! ) จากสายตาที่เคร่งขรึม ก็เริ่มเกิดรอยยิ้มบางๆ
เราถ่ายรูป และเฝ้ามองผู้คนที่กำลังซื้อขายและหอบหิ้วดอกไม้อยู่นาน อย่างที่หลายคนรู้ อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ผู้คนมีความหลากหลายของศาสนาและสิ่งบูชา ที่นี่จึงเป็นตลาดดอกไม้ที่เต็มไปด้วยดอกไม้สำหรับใช้ถวายและสักการะ ที่นี่ทำให้เรารับรู้ได้ถึงจิตวิญญาณในตัวของผู้คนไม่ยากนัก แม้เราจะไม่เห็นถึงพิธีกรรม แต่ทุกๆอย่าง มันแสดงออกมาว่าสิ่งบูชาและการใช้ชีวิตของพวกเค้า เป็นสิ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ได้
ก่อนมาที่ตลาดดอกไม้ เรามีภาพในหัวของเราไว้ ว่าอยากจะคล้องดอกไม้สีแดงบนศรีษะ พอมาถึงสถานที่จริง เรากลับยืนเลือกดอกไม้แบบเก้ๆกังๆ เพราะความเกรงใจที่ไม่รู้ว่ามันสามารถทำได้ไหม และระหว่างที่เราพยายามจะนำพวงดอกไม้มาพันศรีษะ ก็มีพี่ชายคนนึง รีบมาจับที่ดอกไม้ และนำดอกไม้ขึ้นมาวางบนหัวให้เรา เสมือนการสวมมงกุฏให้ นาทีนั้นเรายิ้มร่าและหัวเราะ ผู้คนเริ่มเข้ามามุงล้อม ชายผู้มอบดอกไม้ก็ยิ้มและหัวเราะเช่นเดียวกัน
ความน่ารักที่เกิดขึ้น มันไม่ได้มีอยู่แค่นั้น เมื่อผู้คนที่อยู่รอบข้างก็เริ่มหยิบดอกไม้เล็กๆมามอบให้ ด้วยความที่ตรงนั้นเป็นที่ที่ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษ เราจึงสื่อสารกันด้วยสีหน้าและภาษากาย เราพยักหน้า เค้าพยักหน้า เพียงไม่นาน พวกเค้าก็ยื่นกลีบดอกไม้หลายๆชนิด มาโปรยใส่ โปรยแล้วก็หัวเราะ โปรยแล้วก็โปรยเข้ามาอีก ทุกคนเริ่มโห่ร้องปรบมือ นาทีนั้นเราเหมือนได้กลายเป็นบุคคลสำคัญ ณ ที่ตรงนั้น เป็นความรู้สึกดีๆ แบบที่ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน
เราถ่ายภาพผู้คนที่นี่เก็บไว้ เและค่อยๆเดินออกไปด้วยใจที่พองโต แม้เราจะเดินไปไกลแค่ไหนก็มีรอยยิ้มต้อนรับอยู่เสมอ ในทุกๆภาพถ่าย ณ สถานที่นี้ เราได้สื่อสารกับทุกๆคน มันเป็นมากกว่าการถ่ายภาพตามท้องถนน มันไม่ใช่การเก็บภาพแบบที่เค้าไม่รู้ตัว แต่ข้างหลังภาพทุกใบ เราได้พูดคุย ได้รับความเต็มใจ และความรู้สึกดีๆ การมาในตลาดดอกไม้ จึงเป็นความรู้สึกที่ดีกับเรามากๆ สีสันในพื้นที่ สีของดอกไม้ และทุกอย่างที่เกิดขึ้นในตลาด มันให้ความรู้สึกของคำว่า Place of joy อย่างแท้จริง
ขณะที่เรากำลังเดินออกไปที่ Howrah Station ก็พบเจอคนเยอะแยะมากมาย ทุกคนต่างเร่งรีบ เพื่อจะไปยังจุดหมายที่ต้องการ เราใช้เวลา 15 นาที ในการเดินเท้าเพื่อจะไปถึงสถานีแห่งนั้น ความรู้สึกเหมือนเราอยู่ที่หมอชิตหรืออนุเสาวรีย์ คนเยอะมาก เราพักทานข้าวด้วยอาหารที่คุ้นปาก ก็คือปลาทอด เก็บแรงได้อีกนิดหน่อย เราก็มุ่งหน้าไปที่ Howrah station
พวกเราเดินหาบันไดที่จะขึ้นไปด้านบนกันนานมาก เพราะมันเป็นที่ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก เราจึงต้องเดาเอาจากภาพถ่ายที่เคยเห็น เดาจากมุมต่างๆ เพื่อนเราหาเจอเป็นคนแรก และรีบชวนกันขึ้นไปด้านบน ด้านบนจะเห็นวิวโดยรวมของสะพาน โดยมีอาคารสีแดง และแทกซี่ สีเหลืองตัดอยู่ด้านล่าง เรามองจากมุมนี้ อินเดียก็สวยในอีกมุมนึง
เห็นท่าว่าแดดจะร้อนขึ้น เราจึงตกลงกันว่าจะรีบไปที่อื่นต่อ จากตรงนี้เราเลือกใช้บริการ Taxi แบบ Pre paid นั่นคือการบอกสถานที่และจ่ายเงินไปก่อน สถานที่ที่เราจะไปต่ออยู่ห่างแค่สามกิโลเมตร ระหว่างที่รอ เราจึงถ่ายรูปแท็กซี่เล่นไปเรื่อยๆ แท็กซี่แบบนี้จะมีเฉพาะที่โกลกาต้าเท่านั้น จึงเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่มาก แท็กซี่สีเหลืองทรงเหมือนรถโบราณ น่ารักมากเลย
ระยะทางจาก Howrah station ไปที่ Nakodah masjid ไม่ไกลมาก แต่ด้วยความที่รถติด ทำให้เราต้องหลับไปหลายตื่น Nakodah masjid คือมัสยิดเก่าแก่สีแดง ที่ตั้งอยู่กลางชุมชน ของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม มีความเก่าแก่อย่างมาก เราไม่ได้ก้าวไปดูภายใน เราจึงเก็บภาพไว้แต่ด้านนอก ชุมชนแห่งนี้ก็เป็นอีกที่ที่มีความครึกครื้น เรายังคงเจอผู้คนเข้ามาขอถ่ายรูป ผู้คนที่เข้ามาคุยและสอบถาม ไม่นานมากเราก็เตรียมเดินทางต่อไปยัง ถนนปั้นหุ่น
เรานั่งริคชอล แล้วมาจอดกันที่ถนนใกล้ๆถนนปั้นหุ่น สายตาเราถูกดึงดูดจากซอยเล็กๆ ซอยที่เต็มไปด้วยสีสัน ของสีจากหลายๆอย่าง แม้มันแว็บมาแค่หางตา และมองจากตรงนี้ยังไม่ชัดนัก แต่ก็ทำให้เรากวักมือเรียกเพื่อนที่เดินนำหน้าไป ว่าเราอยากเก็บภาพของซอยนี้ไว้
เราเดินเข้ามาเรื่อยๆ ยิ่งเข้าไปลึกก็ยังตกใจในสีสันต่าง ๆ รู้ตัวอีกทีเราก็มาหยุดอยู่ตรงกลางซอยซะแล้ว วินาทีแรกเราค่อนข้างตกใจกับสถานการณ์นั้นนะ เพราะทุกสายตาในซอยนั้นจ้องมาที่ชั้นเหมือนชั้นดูแปลก (อีกแล้ว) เรายิ้มและถามว่าทำไมที่นี่ถึงเต็มไปด้วยสีสันขนาดนี้ พี่คนนึงตอบเราว่า ก็เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ตบด้วยเสียงหัวเราะ และเช่นเคย หลายๆคนยิ้มมาให้ พร้อมกับเข้ามาทักทาย คนเริ่มมารุมล้อม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พวกเค้าทุกคนดูดีใจที่มีคนแปลกเข้ามาในพื้นที่ของเค้า เด็กๆปรบมือ ร้องเพลง โห่ร้อง เรากดถ่ายรูปพวกเค้า เหมือนเป็นการตอบแทนในมิตรภาพ และพวกเค้าดูจะชอบการถ่ายภาพกันมากๆ จริงๆ
“มันเป็นสถานการณ์ที่แปลก เป็นสถานที่ที่แปลก เพราะจริงๆ มันไม่ใช่ที่ไหนเลย มันคือบ้านของพวกเค้านั่นแหละ แต่เราบอกได้ว่ามันเป็นอีกที่ ที่ประทับใจเป็นอันดับที่สอง รองจากตลาดดอกไม้เลย”
เดินไปไม่นาน เราก็เจอกับถนนปั้นหุ่น ราเดินเข้าไปไม่ไกลมาก เพราะข้างในนี้มีหุ่นที่ตั้งอยู่เยอะมาก เรากลัวว่าจะไปชนหรือทำให้ของเค้าเสียหาย จึงปักหลักอยู่ที่คุณลุงคนนึง ที่กำลังปั้นเทพที่เค้ารักและเคารพ
คุณลุงเชิญให้เรามานั่งดูอย่างยินดี อีกทั้งยังปั้นหุ่นอีกตัวขึ้นมาใหม่ ไม่ทันตั้งตัว เค้าก็ยื่นมาให้ ตอนนั้นความรู้สึกด้านบวกกับอินเดีย เกินขีดที่เราตั้งไว้มากๆ ไหนที่ใครๆบอกว่าที่นี่มีแต่คนดุๆ เอาเข้าจริงๆ น้อยมากที่เราจะพบหรือได้เจอ เพื่อนของเรารับไว้ พร้อมกล่าวขอบคุณคุณลุงใจดี
เราถึงบ้านพร้อมความอ่อนเพลีย วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ค่อนข้างบู๊หนัก แต่ก็ยังมีเวลามากพอให้นั่งเขียนบันทึกถึงอินเดียในวันนี้ วันนี้เราพบกับสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า อินเดียเป็นสีส้มที่สว่างๆ เป็นส้มแห่งความศรัทธา มันแรงกล้าเสียจนเราสัมผัสได้เลย
December 20, 2016
บันทึกถึงอินเดียสีส้ม
“shade of faith”อินเดีย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ถูกเติมเต็มไปด้วยสีสันและรสชาติ ส่วนหนึงคงมาจากความหลากหลายในด้านต่าง ๆ ทั้งทางภูมิประเทศและประชากร ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยผู้คน ที่ให้ความสำคัญ และความหมายกับทุกสิ่ง คงด้วยจารีตวัฒนธรรมที่สืบทอดมานานนับหลายพันปี พวกเค้ามีความศรัทธาอย่างแรงกล้าในความเชื่อ จนเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันกับการดำเนินชีวิต
อีกหนึ่งความพิเศษของที่นี่ คงเป็นการที่เค้าสามารถใช้พลังศรัทธาที่มี มาเป็นเชื้อเพลิงในการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเค้า ตลอดระยะเวลาที่เราอยู่อินเดีย สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนออกมาชัดเจน จนทำให้เราสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของผู้คนเหล่านี้ ถ้าจะเปรียบเป็นสีสักสีหนึ่ง คงเปรียบได้กับสีส้ม ซึ่งเสมือนกับแสงสว่าง พลัง การให้กำลังใจ ความหนักแน่น และรากฐานที่เก่าแก่ นี่แหละความพิเศษของการเดินทาง ผู้คนที่เราได้พบเจอ สิ่งที่ผ่านเข้ามาให้เห็น มุมมองที่เปิดให้ใจเรากว้างขึ้นในแต่ละครั้ง ละในตอนนี้ เราก็รู้สึกว่า เราชอบสีส้มมากกว่าเมื่อวาน
วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะได้ใช้เวลาในอินเดีย เราตื่นมาพร้อมความสบาย ๆ ที่รู้ว่าวันนี้ไม่มีแพลนที่จะรีบไปไหน ทำให้เช้านี้ เราเริ่มมองรายละเอียดรอบตัวมากขึ้น เราเดินเล่นอยู่ในซอยหน้าบ้าน เริ่มทักทายและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในซอยมากขึ้น เราเดินออกมาพบกับคุณยายและน้องหมา ถัดไปไม่นานมากเราก็พบกับคุณยายที่ยิ้มให้โดยไม่มีเหตุผล เรารู้สึกว่าวันนี้อินเดียเย็นๆและอบอุ่นไปพร้อมๆกัน เพราะด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้น ความไม่คาดหวังต่างๆ มันทำให้ใจของเราไร้กรอบใดๆในตอนนี้ เรามองเห็นอินเดียเป็นหลายๆเฉดสี เป็นประเทศที่น่ารัก วันนี้คงสนุกยิ่งขึ้น เมื่อเราไม่มีแพลนการเดินทาง เราจึงไม่รู้เลย ว่าเราจะได้เจออะไรบ้าง
เรานั่ง auto ในราคาที่ถูกมาก จากที่เดิม ไปสถานีเดิม จาก 10 รูปี เหลือแค่ 6 รูปี ไม่รู้ว่าเพราะวันนี้เค้าใจดี หรือวันอื่นโดนโก่งราคากันแน่ 5555 และเราก็นั่ง metro ไปลงที่ jatin das park คนละ 5 รูปี เป็นถนนที่เราเล็งไว้ตั้งแต่วันแรกๆ เพราะมองจากบนรถ ถนนเส้นนี้ น่าเดินเล่นมากๆ
ขณะที่เรากำลังเดินเล่น เราตัดสินใจหยุดที่หน้าบ้านสีฟ้าหลังหนึ่ง เพราะความน่ารัก เราจึงอดเก็บภาพที่หน้าบ้านหลังนี้ไม่ได้ ไม่นานก็มีคุณปู่ท่าทางใจดีเปิดประตูบ้านออกมา เราทักทายเค้าด้วยรอยยิ้ม หวั่นในใจอยู่เหมือนกันว่าอาจจะมารบกวนเค้ารึปล่าว เราเผลอเอ่ยชมความน่ารักของบ้านเค้าไปชุดใหญ่ คุณปู่ตอบและถามเราว่า พวกเธออยากเห็นข้างในบ้านรึปล่าวล่ะ ? พอได้ยินแบบนั้น พวกเราทุกคนรีบตอบรับแบบไม่ลังเล
แม้เราจะใช้เวลาพูดคุยกันเพียงเล็กๆ แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่ทำให้อารมณ์ของเราเปลี่ยนไปหลายอย่างมาก จากการพูดคุยเรื่องทั่วไป ก็เริ่มมีหัวข้อต่างๆทยอยเข้ามา จนถึงคำถามที่พวกเราถามเค้าว่า เค้าอยู่กับใครรึป่าว ทำไมถึงมีเตียงนอนสองเตียง เราจึงได้เห็นแววตาที่เริ่มเปลี่ยนไป คุณปู่เล่าให้ฟังว่า เค้าอายุ 92 ปีแล้ว ครอบครัวของเค้ามีลูกสาวสี่คน แต่ลูกสาวแต่งงานและออกเรือนกันหมดแล้ว จึงทำให้เค้าต้องอาศัยอยู่ที่นี่ แต่เพียงผู้เดียว เราหยุดคำถามไว้เพียงเท่านี้ แล้วความเงียบก็เริ่มมาเยือน ส่วนต่าง ๆ ของบ้านยิ่งทำให้บรรยากาศชวนเศร้า แววตาที่เปลี่ยนไป เราจากกันด้วยรอยยิ้มอีกครั้งแต่ยิ้มครั้งนี้ก็มีอารมณ์ที่ต่างไปจากยิ้มเมื่อตอนทักทาย
เราบอกลาคุณปู่ พร้อมด้วยอารมณ์ที่หลากหลายอยู่ข้างใน ดูนาฬิกา บอกว่าเราต้องรีบออกไปจากตรงนี้แล้ว เราเดินเล่นไปเรื่อยๆ พร้อมทำสัญญากันว่า จะไม่หยุดถ่ายรูปแล้ว เพราะจะทำให้ช้า แต่สุดท้าย ไม่ใครก็ใคร ต้องหยุดถ่ายรูปประตูหน้าต่างของบ้านที่นี่อยู่ดี
เราได้เจอกับคุณป้าคนนี้ ซึ่งน่ารัก น่ารักมากๆ เค้าดูชื่นชอบพวกเรามากเป็นพิเศษ เพราะตอนบอกลา เค้ายกมือขึ้นแล้วพูดว่า ‘ฮาลีกฤษณะ’ เราเลยได้ทราบว่า มันคือคำบอกลา ที่หมายความว่าขอให้พวกเค้าพบแต่สิ่งดีๆ คุณป้าพูดพร้อมชูมือสองข้าง ยิ่งตะโกนดัง ยิ่งชูสูงเท่าไร เสมือนกับขอให้เราโชคดีมากขึ้นเท่าๆนั้น
เราได้มาถึงที่ Kali temple ด้วยการลงที่สถานี Shymbazer คนละ 10 รูปี และนั่ง taxi ต่อมา พอถึงวัด ก็เจอตรอกที่ตั้งขายของสำหรับนำไปใช้บูชาตลอดทาง เราไม่ได้เข้าไปในวัดอีกเช่นเคยเพราะคนเยอะมาก และเค้าคงต้องการทำบุญกันจริงๆ เราจึงได้แต่เดินเล่นถ่ายรูปอยู่ด้านนอก แต่เท่านี้ก็สวยมากแล้วแหละ
เรายังคงเจอผู้คนมาขอถ่ายรูปตามทาง มาคนเดียวบ้าง มาเป็นแกงค์บ้าง และก็ถึงเวลาที่เราต้องไปที่ Belur math ตอนแรกเราขึ้นผิดท่าเรือด้วย ท่าแรกเรือจะออกทุกชั่วโมง แต่ความจริงแล้วที่เราดูกันมา มันจะออกทุก 15 นาที เราเดินหาท่าเรือกันชุลมุน เพราะความกลัวที่มันจะมืดลงซะก่อน ก่อนจะไปถึง แต่สุดท้าย เราไปถึงแล้วมันก็มืดแล้วอยู่ดี
พอเราถึงท่าเรือที่ถูกต้อง ก็ยังได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวอินเดียเหมือนเดิม คราวนี้มากันเป็นครอบครัว เค้าให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาในการเดินทางอย่างดี แถมยังเลี้ยงไจให้พวกเราทั้งหมด แล้วพาเดินไปในทางที่ถูกต้อง ไม่ให้เราต้องหลงทางเลย
เรามาถึงที่นี่ด้วยบรรยากาศที่เริ่มมืดแล้ว ด้านหน้าวิหารมีดอกไม้ปลูกสวยงาม เสียงสวดจากด้านในหลุดลอดออกมาเป็นระยะ เราใช้ความเงียบ ค่อยๆเดินไปดูว่าด้านในมีพิธีอะไร ก็ได้พบว่ามันเหมือนเป็นพิธีสวดที่น่าจะมีในทุกๆวัน ทำนองและคำร้องไพเพราะมากๆ เหมือนฟังดนตรีแต่ไม่ทันไรเราก็เดินออกมา ด้วยเพราะกลัวจะไปรบกวน
ทางกลับ เรายังพบกับครอบครัวเดิมที่ให้ความช่วยเหลือเราในตอนแรก มาช่วยซื้อตั๋วเรือที่เราซื้อผิด อีกทั้งยังมาช่วยโบกแท็กซี่อย่างสุดความสามารถ ตอนนี้เราเทใจให้อินเดียเต็มร้อย เค้าไม่เคยทำอะไรแบบขอไปที ช่วยแต่ละครั้งคือช่วยจนสุดความสามารถจริงๆ และเราก็กลับมาที่ท่าเรือท่าเดิม พร้อมกับเจอ Kali temple ที่เปิดไฟ แล้วสวยงามมาก เราถามเจ้าถิ่นว่าเค้าเคยไปพาราณสีไหม เพราะตัวเราอยากไปมากๆ เค้าบอกว่าไม่เคยไป แต่แม่น้ำ ‘แกงก่ะ’แห่งนี้ ยาวไปจนถึงพาราณสี..นาทีนั้นเรากำลัง งงๆ ว่าแกงกะคือแม่น้ำอะไร แต่สุดท้ายก็อ๋อออ ว่ามันคือแม่น้ำคงคานั่นเอง เราตกใจและตื่นเต้นมาก เพราะเราอยากจะมาเห็นแม่น้ำคงคาสักครั้งในชีวิต ตอนแรกยังคิดอยู่เลยว่าทำไมแม่น้ำนี้มันทั้งใหญ่ กว้าง และสงบมากๆ ที่แท้ มันคือแม่น้ำ ‘คงคา’ นั่นเอง
” Pleased, ยินดี ; บทสรุปของการเดินทางในครั้งนี้ หนีคำนี้ไม่พ้นเลยจริงๆ เรายินดีกับหลายอย่างที่มีโอกาสได้พบและผ่านมันไป ยินดีกับมิตรภาพใหม่ๆ ยินดีกับการได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ยินดีที่สุดคงเป็นการเอาชนะกรอบความคิดของตัวเราเอง การมาที่นี่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า บางครั้งการมีภาพจำเกิดขึ้นมาก่อนโดยที่เราไม่ได้เห็นกับตา มันทำให้เรามองบางอย่างในภาพที่แคบเกินไป เหมือนเราใส่ฟิลเตอร์ลงในสมองของเรา และกลายเป็นกรอบให้ตัวเองแบบเปล่าประโยชน์ ขอบคุณที่นี่อีกครั้งสำหรับบทเรียนนี้ ในครั้งต่อไป เราคงต้องเดินทางให้ไกลขึ้น เพื่อลบภาพจำที่มองผ่านสื่อ และสร้างภาพใหม่ ด้วยตาของเราเอง
หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้ เราอยากจะบอกว่า ทั้งหมดตั้งแต่ต้นมันเพียงแค่การพูดถึงอินเดียจากตัวเรา มันเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆของอินเดียในมุมมองของผู้หญิงคนหนึ่ง เราเองก็ยังไม่ได้เห็นทั้งหมด และแน่นอนว่าย่อมไม่เข้าใจมันทั้งหมด เพราะสุดท้ายเราก็ยังตอบคำถามในบรรทัดแรกไม่ได้ว่าอินเดียมีกี่สี ไม่แปลกหรอกที่บางส่วนจะมีสีเข้มหรือบางส่วนจะสว่างสดใส มันคงแล้วแต่มุมมองและโอกาสของแต่ละคนไป แต่อินเดียที่เรารู้จักตอนนี้ มันค่อนข้างเป็นอินเดียที่หลากสี และสวยงามในแบบที่มันเป็น เพียงหวังว่าสิ่งต่างๆที่เราได้บันทึกไว้ จะช่วยลบอินเดียสีเข้มในใจของใครได้ และได้สร้างภาพจำที่สดใสของอินเดียร่วมกัน”
ข้อมูลเบื้องต้น สำหรับการเดินทางมาอินเดีย
- อย่างแรกคือเราต้องเตรียมในเรื่องวีซ่า ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบธรรมดาและ e-visa สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปทำด้วยตนเอง แต่ข้อจำกัดของมันคือ เมื่อทำ e-visa แล้ว จะห้ามกลับไปอินเดียอีกภายในเวลาหกเดือน ถ้าใครไม่มั่นใจว่าต้องกลับไปไหม แนะนำให้ทำแบบธรรมดามากกว่า โดย e-visa ทำได้จากเว็บไซต์นี้ https://indianvisaonline.gov.in/visa/tvoa.html
- แลกเงิน สามารถแลกได้ที่ supperrich thailand สีเขียว
- อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง ถ้าใครรู้ตัวว่ากินยากแบบเรา แนะนำให้เตรียมมาให้พร้อมเลย
- แอลกอฮอลล์ทำความสะอาดมือ ทิชชูเปียก อินเดียฝุ่นเยอะมาก
- ช้อนส้อมพลาสติก เผื่อไว้ เผื่อร้านไหนไม่มีช้อนให้ เราก็ใช้ของเราได้เลย
- กระเป๋าใบเล็ก ไว้แยกเหรียญออกจากส่วนอื่นๆ เพราะมีโอกาสจะใช้เหรียญใช้จ่ายเยอะกว่า
- แมสปิดปาก ถ้าใครรู้ว่าแพ้ฝุ่น เตรียมมาด้วยก็ดีนะ
- ยาแก้ปวดหัว แก้ท้องเสีย เผื่อไว้
- สำคัญสุด ตั๋วเครื่องบิน ตอนนี้ Thai AirAsia เปิดเส้นทาง ดอนเมือง-โกลกาตา วันละ1 เที่ยวบิน ราคาไปกลับ 4000 กว่าๆ เท่านั้นเอง
เมื่ออ่านจบสิ่งที่อยากบอกคือ ว้าวว!! นี่อินเดียใช่ไหม คุณทำให้เราเห็นมุมมองที่ต่างไป ผ่านทางรูปภาพและปลายปากกา ผมมองเห็นอินเดีย ในมุมที่น่ารักขึ้นกว่าเดิม ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆและรูปภาพหลากหลายเชดสีของอินเดีย เป็นกำลังใจให้นะครับ✌🏼️
ขอบคุณสำหรับกำลังใจเล็กๆนะคะ ดีใจมากๆเลยค่ะ ^^
เขียนได้ดีและละเอียดมากค่ะ อ่านเพลิน ชอบที่มีการใส่ไดอารี่โน้ตเล็กๆ เอาไว้ด้วย ภาพก็สวยมาก มีเรื่องเล่า ทำให้เปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับอินเดียเลยค่ะ จะติดตามต่อนะคะ
ปล.ไม่ทราบว่าใช้กล้องยี่ห้ออะไรรุ่นไหนหรอคะ ภาพออกมาสวยมากๆ แต่งรูปกับ vsco ทุกรูปมั้ยคะ
ใช้กล้อง Fuji xt1 ค่ะ ขอบคุณมากๆเลยนะคะ ^^
ชอบมากเลยค่ะ ภาพมีพลังมาก เรื่องราวอ่านแล้วประทับใจอ่านไปไม่รู้สึกว่ายาวเลย อยากติดตามต่อเรื่อยๆว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรนะ ขอบคุณที่เป็นแรงบันดาลใจ แล้วก็เป็นกำลังใจให้นะคะ
ขอบคุณมากเลยนะคะ ดีใจมากๆค่ะที่ชอบ
อินเดียดูเป็นมิตร และน่ากลัวน้อยลงเลยค่ะหลังจากอ่านจบ
อยากไปอินเดียสักครั้ง เพราะรู้สึกว่าอินเดียเค้ามีของค่ะ😊