RAJASATHAN INDIA, 2017
JAIPUR AGRA JODHPUR PUSHKAR
แทบทุกครั้งหลังจากออกไปพบเจอโลกภายนอกเมื่อเรากลับมาถึงบ้าน เรามักจะคิดทบทวนถึงสถานที่ที่เคยเดินทางไป บางครั้งก็อาจนานมาแล้วหรือบางทีก็นึกถึงเรื่องราวล่าสุดที่พึ่งผ่านพ้น ยิ่งเมื่อกลับมาเปิดภาพเก่าๆ เรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ก็กลับแจ่มชัดขึ้นมาอีกครั้ง
ตลอดเกือบปีที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะได้เดินทางไปมากกว่าสิบประเทศ แต่สำหรับเรา อินเดียยังคงเป็นที่แรกๆ ที่ใจเราโหยหาให้กลับไปมากที่สุด ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลอะไร พอมีโอกาสอีกครั้งก็ยิ่งทำให้เราใจจดใจจ่อเฝ้ารอเพียงแค่วันที่จะได้ออกเดินทาง เวลาเกือบสองอาทิตย์นี้เราเลยถือเป็นโอกาสที่จะตอบคำถามที่เราตั้งเอาไว้ในใจ ว่าอะไรที่ทำให้เราหลงรักอินเดียได้มากซะขนาดนี้
” Cherish your yesterdays,
dream your tomorrows and live your todays. ”
— Anonymous
เราเริ่มด้วยการหาเพื่อนมาร่วมทริปทั้งหมด 6 คนด้วยกัน จากนั้นก็หาข้อมูลและทำวีซ่าอินเดียผ่าน E-Visa ในเว็ปสถานฑูตอินเดียโดยตรง หลังจากขอวีซ่าผ่านแล้ว เราก็เริ่มจัดแจงหาที่พัก โดยเลือกที่พักผ่าน AIR BNB เพราะสะดวกสบายจองง่ายและมี Host จากนั้นก็ซื้อของกินของใช้ที่จำเป็น และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ติดต่อคนขับรถให้กับเราสำหรับการเดินทางครั้งนี้ เพราะเค้าจะต้องอยู่ร่วมเดินทางไปกับเราอีกสิบวันเต็มๆ
NOTE
- การเตรียมตัวสำหรับวีซ่าอินเดีย เข้าเว็บไซต์ https://indianvisaonline.gov.in/evisa/tvoa.html จากนั้นทำตามขั้นตอนและรอเพียง 48 ชั่วโมงทางสถานฑูตจะตอบกลับว่าเอกสารครบไหม หากทุกอย่างครบเรียบร้อย รออีกไม่กี่ชั่วโมงเราจะได้วีซ่าออนไลน์เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นปริ้นท์ออกมาให้ครบและใช้ยื่นได้ที่ ตม. เลยค่ะ
- การเดินทางจากไทยไปยังจัยปูร์ เราเดินทางด้วยสายการบินแอร์เอเชีย ที่มีเที่ยวบินตรง ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงจากสนามบินดอนเมือง ราคากำลังน่ารักเริ่มต้นที่ 4,000 บาท ถือว่าไม่แพงเลย
- การเดินทางในอินเดีย แนะนำว่าให้เช่ารถพร้อมคนขับไปเลย ราคาสามารถต่อรองได้ เช่าจากบริษัทในเว็บไซต์หรือใครอยากได้คนขับรถที่เราใช้ หลังไมค์มาได้เลยค่ะ เพราะคุณโซฮานนิสัยดีมาก อยากไปไหนก็ได้ไป ไม่เคยบ่นและบริการดีมากด้วย สำหรับทริปของเราต้องย้ายหลายเมืองและระยะทางค่อนข้างห่างกันไกล และอยู่หลายวัน การมีรถพร้อมคนขับทำให้สะดวกสบายขึ้นมากจริงๆ
- อาหาร มีอาหารให้เลือกหลากหลายมาก มีทั้งมังสวิรัตหรือร้านทั่วไป ปกติเราทานอาหารยาก มารอบที่แล้วก็ทานยากแต่สำหรับที่นี่ถือว่าคุ้นปาก พอทานได้ แต่ถ้าจะเตรียมอาหารตุนไว้แบบเราก็ช่วยให้หายคิดถึงรสชาติของที่บ้านเราได้ดีเลย
- อากาศ เป็นไปแล้วแต่ฤดู โดยปกติจะร้อนแต่ไม่เหนอะหนะ ใส่เสื้อผ้าสบายๆ ได้เลย
- พาสปอร์ตไทย สามารถลดราคาค่าเข้าสถานที่ต่างๆ ได้เยอะมาก โดยเฉพาะที่เมืองอัครา ทัชมาฮาลสามารถลดได้เกินครึ่งราคาเลยทีเดียว ไปที่ไหนให้พกพาสปอร์ตติดตัวกันด้วยนะคะ
- ผ้าปิดปาก และทิชชูเปียก สำคัญมาก เพราะฝุ่นเยอะบวกกับเป็นคนชอบหยิบจับนู้นนี่ไปเลย พกไว้เลยช่วยชีวิตได้มากทีเดียว
การเดินทางไปอินเดียครั้งนี้เราเลือกเดินทางไปฝั่งรัฐราชสถาน เป็นหนึ่งในรัฐทางตะวันตกของอินเดีย โดยใช้เวลาทั้งหมด 10 วันกับสามเมือง คือ ชัยปุระ (Jaipur) จูดห์ปุระ (Jodhpur) และอัครา (Agra)
เมื่อทุกอย่างพร้อม การเดินทางก็เริ่มขึ้น เราบินตรงจากสนามบินดอนเมืองถึงชัยปุระด้วยสายการบิน Air Asia ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมงก็ถึงที่หมาย หลังจากรับกระเป๋าจัดการทุกอย่างเสร็จ พอเดินออกมาหน้าสนามบินหัวใจก็เต้นตุบๆ ไปกับบบรรยากาศที่คุ้นตา สิ่งแรกที่เราเห็นก็คือ Mr. Zohan ที่ยืนรอรับ มากับรอยยิ้มกว้างพร้อมป้ายขนาด A4 ที่ชูขึ้นสูงว่า Ms.Eve ผู้ชายคนนี้แหละที่จะทำหน้าที่ขับรถให้เราตลอดเวลา 10 วันนี้
“The purpose of life, after all, is to live it,
to taste experience to the utmost, to reach out eagerly
and without fear for newer and richer experience.”
— Eleanor Roosevelt
JAIPUR
City Palace Jaipur
ค่าเข้า 1500 รูปี (รวมไกด์คอยให้คำแนะนำ) เปิดทุกวัน
City Palace ตั้งอยู่บนถนน Hawa Mahal Bazaar สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 19 เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่าง โมกุล ราชปุตและยุโรป ซึ่งปัจจุบันยังคงมีทายาทอาศัยอยู่ และเปิดบางส่วนให้กับคนทั่วไปได้เข้าชม
อาคารสีส้มที่เจิดจ้าในเวลาใกล้เที่ยงตัดกันดีกับสีของท้องฟ้าใสในวันที่ไม่มีเมฆ มองดูแล้วช่างเป็นโทนสีที่จับคู่เข้ากันอย่างลงตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ
ส่วนที่เห็นนี้ คือโซนห้องพักของนางสนมร้อยกว่าคน ทุกคนจะมีพื้นที่พักผ่อนของตัวเอง รวมถึงมีการจัดสรรห้องพักแยกให้แต่ละคนอย่างเป็นสัดเป็นส่วนไม่ปะปนกัน
ห้องพักรับรองที่ให้ความรู้สึกเหมือนฮาเร็มที่เราเห็นตามภาพยนตร์ ห้องนี้ถูกตบแต่งด้วยสีทองและเฟอนิเจอร์สีแดง มีรายละเอียดของกำแพงเยอะ ตระการตาจนมองไม่หมด เราได้แต่พูดออกมาเบาๆ ว่าสวยมากจริงๆ
ห้องพักรับรองห้องนี้เป็นห้องที่มีความพิเศษมาก ทั้งห้องถูกประดับประดาด้วยหินสะท้อนแสง ซึ่งเมื่อแสงภายในห้องมืดลงและเริ่มจุดเทียนขึ้น แสงเทียนจะกระทบกับเหล่าหินที่ประดับไว้บนเพดานและกำแพงห้องจนสะท้อนให้ห้องนี้มีแสงระยิบระยับวูบไหวสวยงาม เราตื่นตาตื่นใจกับห้องนี้มาก ทึ่งในความคิดของคนที่สร้างสรรค์ขึ้นมา เพราะเพียงเทียนเล่มเดียวก็ทำให้ทั้งห้องสว่างขึ้น และเพิ่มความโรแมนติกขึ้นมาได้ด้วย
จะเห็นได้ว่าภายในแบ่งออกเป็นหลายโซนและถูกตกแต่งไว้อย่างสวยงาม เราประทับใจที่นี่มากเช่นกัน เพราะด้านในตกแต่งได้สมกับคำว่าอลังการ ผสมผสานงานศิลปะ วัฒนธรรมและความเชื่อไว้ได้อย่างลงตัว เราใช้เวลาเดินอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยที่นี่เมื่อจ่ายค่าเข้าไปแล้วจะมีไกด์คอยอธิบายสิ่งต่างๆ ไว้ด้วย คิดว่าเป็นที่ที่ห้ามพลาดเมื่อมาที่จัยปูร์เลยนะ
Hawa Mahal
9.00-16.30 น เปิดทุกวัน ค่าเข้า 50 รูปี ตั้งอยู่บนถนนฮาวามาฮาล
ฮาวามาฮาลหรือพระราชวังสายลม กำแพงสูงฉาบสีปูนแห้งและเต็มไปด้วยบานหน้าต่างมากมาย ฮาวามาฮาลตั้งอยู่ใกล้ๆ กันกับ City Palace สามารถเดินไปทั้งสองที่ได้ภายในเวลาไม่นาน พระราชวังสายลมแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาแล้วกว่า 200 ปีก่อนเพื่อให้เหล่านางสนมและนางกำนัลของมหาราชาใช้หน้าต่างที่มีอยู่ ดูความเป็นไปของชาวบ้านและทิวทัศน์ของเมือง หากอยากได้ภาพมุมสวยๆ ของที่นี่ก็สามารถเดินข้ามถนนไปตรงเกาะกลางได้ หรือเข้าไปยังร้านค้าฝั่งตรงข้าม ซึ่งสามารถถ่ายภาพและดูพระราชวังสายลมแห่งนี้ในอีกมุมหนึ่งได้เหมือนกัน
หลังจากเที่ยวชม City Palace และ Hawa Mahal เสร็จแล้ว เราก็เหมาสามล้อต่อเพื่อชมตัวเมืองและถนนย่าน Hawa Mahal Bazaar สองข้างทางของถนนเส้นนนี้เต็มไปด้วยร้านค้าที่เปิดกันตั้งแต่เช้ายันเย็น ทำให้ค่อนข้างครึกครื้นมากทีเดียว
สีส้มแบบนี้คือสีดินปูน ซึ่งเป็นสีที่นิยมใช้ในทุกที่ของเมืองชัยปุระ
Give my badge and gun
Give me the road that I may run
Give me that peaceful, wandering free I used to know
I’ve waited all I can
But I’m just not a patient man
And I’ve been hiding here for seven months or so
— John Mayer
การเดินทางของเราครั้งนี้ เราใช้รถเป็นหลักตลอดทั้งทริป
ทุกเส้นทางที่เราแล่นผ่าน ท่ามกลางเสียงจอแจของผู้คน
เรามีเสียงอุ่นๆ และกีตาร์นุ่มๆ ของ John Mayer
เป็นเพื่อนเพิ่มบรรยากาศให้ฮึมฮัมกันไปตลอดระยะทาง 🙂
Amber Fort
8.00-17.00 น เปิดทุกวัน ค่าเข้า 500 รูปี หากมีบัตรนักเรียนจะลดเหลือ 100 รูปี
ป้อมปราการอันใหญ่โตที่ตั้งอยู่บนผาหินริมทะเลสาบ งานสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของอินเดียที่ผสมผสานระหว่างศิลปะฮินดูและราชปุตได้อย่างยิ่งใหญ่สวยงาม ด้านนอกคือกำแพงสูงตระหง่าน ซ่อนความสวยงามของส่วนด้านในเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง ส่วนด้านในของป้อมนี้ยังถูกแบ่งได้อีกหลายส่วนเช่นท้องพระโรง หรือพระที่นั่งซึ่งทั้งหมดถูกตกแต่งด้วยหินทรายสีแดงและหินอ่อนที่ถูกแกะสลักอย่างประณีต นอกจากนี้ทิวทัศน์รอบป้อมปราการยังเป็นเมืองเก่าแก่ที่ยังคงมีผู้คนอาศัยอยู่อีกด้วย นั่นทำให้ปราการแห่งนี้ดูมีชีวิตชีวาเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาที่นี่สามารถเลือกเส้นทางการเข้าป้อมได้หลายอย่าง เช่น เดินขึ้นจากด้านหน้า นั่งรถผ่านตัวเมืองเก่าไปถึงประตูทางเข้า หรือนั่งช้างขึ้นไปก็ได้
วิวจากป้อมเอมเบอร์สามารถมองเห็นแนวกำแพงยาวเหยียดรอบเมืองที่ลดหลั่นไปตามสันเขา รวมไปถึงตัวเมืองเก่าด้วยเช่นกัน ภายในป้อมนั้นเต็มไปด้วยซอกซอยต่างๆ ทางเดินบันไดที่อาจพาเราให้หลงทางได้เลยหากไม่เกาะกลุ่มกันไว้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่วายหลงทางจากความซนของการมุดเข้าออกซอกซอย เราเดินผ่านช่องเล็กที่พาเราทะลุไปตามชั้นของตัวปราการ ทุกก้าวเดินยิ่งทำให้เราทึ่งในความอลังการ ย้อนคิดไปว่าในสมัยก่อนนั้นเค้าสร้างสิ่งใหญ่โตเช่นนี้มาได้อย่างไร
“India is not, as people keep calling it, an underdeveloped country, but rather, in the context of its history and cultural heritage, a highly developed one in an advanced state of decay.”
― Shashi Tharoor
ทางสำหรับเดินขึ้นลงจากป้อมบางส่วนคือเส้นเดียวกันกับทางขึ้นของช้าง บางช่วงที่เราหลบให้ช้างเดินผ่านจึงเทียบได้ว่าช้างที่นี่ตัวดูจะใหญ่กว่าช้างที่บ้านเราอีก
Nahargarh Fort
8.00-17.00 เปิดทุกวัน ค่าเข้า 200 รูปี บัตรนักเรียนลดเหลือ 25 รูปี
ป้อมนี้ตั้งอยู่บนหน้าผาทางใต้ของเมืองบนเทือกเขาเดียวกันที่ทอดยาวมาจาก Amber fort หากเปรียบทิวทัศน์ของที่นี่ก็คงเป็นเหมือนภาพพาโนราม่า ที่มองเห็นตัวเมืองได้โดยรอบ เราเดินผ่านตัวป้อมจนมาหยุดที่พระราชวัง Madhavendra Bhavan ที่นี่เราสามารถขึ้นไปที่ด้านบนดาดฟ้าได้ ซึ่งถือเป็นจุดชมทิวทัศน์ของเมืองและอาทิตย์อัสดงที่ขึ้นชื่อที่หนึ่งของชัยปุระเลยล่ะ โดยเฉพาะในตอนพระอาทิตย์คล้อยต่ำจะตกดิน แสงสีส้มสาดไปทั่วทั้งหุบเขา กระทบเข้ากับสีเหลืองนวลของพระราขวังจะยิ่งทำให้ภาพที่ปรากฎขึ้นมีความงดงามมากขึ้นไปอีก เราอยู่ที่ตรงนั้นจนแสงค่อยๆ ลาลับขอบฟ้าไป ทิ้งความประทับใจไว้ภายในดวงตาและรอยยิ้มของพวกเรา
คนที่นี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู จึงทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่มีเนื้อสัตว์ อย่างเช่นร้านนี้ก็เป็น Veggie มีคนเข้าคิวรอเยอะมาก เรามีเวลาอยู่ไม่นานก่อนเดินทางไปเมืองอื่น เลยลองแวะเข้ามา ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องแป้งโรตี ที่ทำกันสดๆตรงนั้นเลย เราที่ว่ากินยากๆ ก็ยังพอทานได้นะ
Chai Tea
ร้านไจเล็กๆ ระหว่างทางกลางเมืองชัยปุระที่เราแวะกันแทบทุกครั้งที่ผ่าน ไจคือชาแบบอินเดีย เป็นชานมที่ผสมขิงและสมุนไพรเข้าไปในระหว่างการต้มชานมที่เดือดจัด แล้วกรองออกมาจนกลายเป็นชาที่มีกลิ่นหอมละมุนของนมผสมกับรสชาติเข้มข้นของสมุนไพร เป็นสิ่งที่เราติดใจจนหาร้านให้ได้จิบไจกันทุกวัน ต่อให้ไม่ใช่ร้านนี้หรือเป็นร้านไหน รสชาติก็คงเส้นคงวาเหมือนกันทุกร้าน เรียกได้ว่าเข้าร้านไหนก็ได้กินชาที่อร่อยเหมือนกันแน่นอน
JODHPUR
ระยะทางระหว่างจัยปูร์และจอดปูร์อยู่ที่ 165 กิโลเมตร เรียกได้ว่าเราใช้เวลาเกือบ 7 ชั่วโมงในการย้ายเมือง แต่ทว่าภาพเมืองสีฟ้าที่เราได้เห็นตามสื่อต่างๆ นั้น ทำให้เราไม่สามารถหยุดยั้งการเดินทางครั้งนี้ได้จริงๆ ตำนานของเมืองสีฟ้าแห่งนี้เกิดจากการที่ชาวบ้านทั้งหลายพร้อมใจกันทาเมืองทั้งเมืองให้เป็นสีฟ้า เพื่อสะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์และป้องกันแมลง ทั้งยังเป็นสีพระวรกายของพระศิวะที่ชาวฮินดูเคารพนับถือ (ต้องขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ อินเดียไม่เคยเปลี่ยน เราต่างหากที่ต้องเปลี่ยน) เพราะตัวเราเองก็สงสัยอยู่ไม่น้อย ว่าทำไมเมืองแห่งนี้ถึงถูกเคลือบไปด้วยสีฟ้าทั้งเมือง
จอดปูร์ในยามเช้าครึกครื้นอยู่ไม่น้อย เราเริ่มออกจากที่พักพร้อมกับสอดส่องหาร้านขายไจในยามเช้า เป็นการเติมพลังก่อนจะลุยยาว และเราก็เจอเข้ากับร้านที่ขายไจและไข่ดาวทอด เจ้าของร้านยิ้มแย้มทักทายตามประสาคนอินเดียที่มักจะเป็นมิตรกับชาวต่างชาติเสมอ พออิ่มเราก็เตรียมพร้อมเพื่อออกเดินทางไปยังจุดที่เรียกว่า Blue City
Ghanta Ghar
หอนาฬิกาที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางลานใหญ่ รายล้อมไปด้วยตลาดและเหล่าผู้คนที่สัญจรไปมา ซึ่งตัวหอนาฬิกาสามารถเดินขึ้นไปชมวิวตลาดจากด้านบนได้ด้วย
และที่นี่ยังมีคุณลุงผู้ดูแลหอนาฬิกา คอยปัดกวาดและควบคุมตัวกลไกต่างๆ ของหอนาฬิกาแห่งนี้ เค้าเล่าให้เราฟังว่าหน้าที่นี้ได้สืบทอดกันมาหลายช่วงอายุคนแล้ว ซึ่งในตอนนี้เค้าคือคนสุดท้ายที่สามารถเข้าใจกลไกของหอนาฬิกาแห่งนี้ และดูแลที่นี่อยู่เพียงผู้เดียว
Blue City
ตัวเมืองสีฟ้าของจอดปูร์ ผนังและส่วนต่างๆ ของบ้านเรือนในแถบนี้ถูกทาฉาบด้วยสีฟ้าในโทนใกล้เคียงกันแทบทั้งหมด เมื่อเราหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเดิม ก็ได้พบว่า เดิมทีสีฟ้าจะถูกใช้ทาเฉพาะบ้านของพราหมณ์เท่านั้น แต่เพราะความเชื่อที่ว่าสีฟ้าช่วยไล่แมลงและทำให้บ้านเย็นลงอย่างที่บอกตอนแรก เลยทำให้เหล่าชาวบ้านนำสีฟ้ามาทาบ้านเรือนของตนบ้าง จนในที่สุดเมืองแห่งนี้ก็ถูกเรียกขานว่า นครสีฟ้า บ้านเรือนที่ซ้อนกันขึ้นไปตามความสูงต่ำของภูเขา เลยทำให้เมืองนี้ดูมีมิติชวนมองมากขึ้น ระหว่างที่เราเดินและมุดไปตามซอกซอยต่างๆ เด็กหนุ่มคนหนึ่งก็ชักชวนเราให้เข้าไปยังบ้านสีฟ้าของเค้า พร้อมกับพาเราขึ้นไปบนดาดฟ้าของบ้าน ซึ่งสามารถมองเห็นวิวเกือบทั้งเมืองและบ้านเรือนที่แต้มสีฟ้ารอบๆ ได้อย่างชัดเจน
Mehrangarh Fort
เปิด 9.00-17.00 น. ทุกวัน ค่าเข้า 500 รูปี ค่านำกล้องเข้าอีก 100 รูปี
ก่อนหมดวันเรามาหยุดกันที่ป้อมเมห์รังการห์ ป้อมสีแดงบนหน้าผาที่ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนในจอดปูร์ก็จะมองเห็นได้จากทุกทิศ ป้อมอันสวยงามที่ขนาดใหญ่โตนี้ ทำให้เราอดเกิดคำถามเดิมๆ ไม่ได้ว่าในยุคนั้นเค้าสร้างมันขึ้นมาได้ยังไง และมันจะรุ่งเรืองขนาดไหนกัน
ความงดงามและยิ่งใหญ่ของป้อมนี้ถูกกล่าวขานจากนักประพันธ์ Redyard Kipling ผู้แต่งนิยายเรื่อง เมาคลีลูกหมาป่า นิยายชื่อดังที่หลายคนคงรู้จักกันอยู่แล้ว นักเขียนถึงกับยกย่องว่าป้อมแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยนางฟ้า ภูติพรายและยักษ์ ซึ่งพอมองขนาดอันมหึมาและความวิจิตรของป้อมนี้แล้ว เราก็เห็นด้วยว่าอาจจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ
เรามาถึงที่นี่ก็เย็นค่ำซะแล้ว เหลือเวลาอีกไม่นานก็ใกล้จะปิด เราจึงทำได้เพียงเดินดูรอบๆ เท่านั้น นอกจากความยิ่งใหญ่ของตัวป้อมแล้ว ทิวทัศน์รอบๆ ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเลยฝั่งหนึ่งคือเมืองจอดปูร์ทั้งหมดและอีกฝั่งคือเมืองสีฟ้าตั้งขนานกันกับแนวเขาที่ทอดยาว เป็นภาพที่สะกดให้เราต้องทิ้งตัวลงและอยู่ตรงนั้นนานเลยทีเดียว
เราใช้เวลาก่อนหมดวันไปกับการนั่งมองบรรยากาศเมืองที่เริ่มครึกครื้นขึ้นทีละน้อยจากมุมสูง แอบมองชาวเมืองใช้ชีวิตกันบนดาดฟ้าของบ้าน เราเห็นคนออกมานั่งเล่น เตะบอลบนดาดฟ้า ตากผ้า ทานข้าวเย็น บางบ้านเปิดเสียงดังเสียจนได้ยินจากตรงนี้ เราใช้เวลาอยู่ที่นี่และรอดูพระอาทิตย์ที่ค่อยๆ ลับหายลงไปด้านหลังของเมือง
Umaid bhawan palace
ค่าเข้า 100 รูปี
พระราชวังอุเมดภาวัน พระราชวังที่อยู่บนเนินเขาชานเมืองจอดปูร์ ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษโดยยึดเอาหลักโครงสร้างแบบอินเดียโบราณมาใช้ ด้านในแบ่งได้เป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนวังซึ่งยังคงมีราชวงศ์อาศัยอยู่ ส่วนโรงแรมและส่วนพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดให้นักท่องเที่ยวรวมถึงคนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ ภายในมีการจัดแสดงงานหลายรูปแบบเหมือนกัน แต่สิ่งที่เราชอบที่นี่คือแสงสวยๆ ที่ลอดผ่านจากเสาหลายๆ ต้นเรียงติดกัน ถ้าใครไม่รีบมากและมีเวลา ก็เข้ามาเที่ยวเล่นที่นี่ได้นะ
Jaswant Thada
ค่าเข้า 35 รูปี
อนุสรณ์สถานที่เคยเป็นพื้นที่เผาพระศพของราชวงศ์มาร์วาร์ รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นหินอ่อนแผ่นบางๆ เกือบทั้งหมด เมื่อหินอ่อนต้องกับแสงอาทิตย์จะทำให้ตัวอาคารดูเรืองแสงและสว่างไสวขึ้นมา รอบๆ บริเวณนั้นเป็นสวนหย่อมร่มรื่น ด้านข้างติดทะเลสาบและล้อมรอบพื้นที่ด้วยปราการตลอดแนวเขา หากมองจากระยะไกลจะเห็นตัวอาคารสีขาวเด่นชัดมาก ส่วนตัวเราชอบที่นี่มาก เพราะวันที่มาฟ้าใสและแดดดี สะท้อนตัวอาคารอย่างที่เค้าร่ำลือกัน เราเดินถ่ายรูปอยู่หลายมุมและออกไปนั่งเล่นด้านหลังที่ติดกับทะเลสาบ ลมเย็นสบายเชียวหละ
หน้าทางเข้ามีคุณลุงคนแก่เล่นเพลงอินเดียบรรเลงคลอๆ อยู่ด้านหน้า เรานั่งลงและฟังอยู่นาน ไพเราะและนุ่มนวลมากๆ สำหรับเสียงดนตรีพื้นเมืองแบบนี้ เราหยิบยื่นเงินรูปีให้เค้าอย่างตั้งใจ พร้อมกับแถมเงินไทยให้เค้าไปด้วย เค้ายิ้มรับด้วยความยินดี แถมยังจะสอนให้เราเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้ แต่เราไม่มีเวลาแล้ว จึงต้องบอกลากันไปด้วยรอยยิ้มที่ยินดี
AGRA
เราเริ่มเช้าวันใหม่อีกวันด้วยการจัดของเพื่อเดินทางต่อ หลังกลับจากจอดปูร์มานอนพักที่ชัยปุระแล้ว ที่ต่อไปซึ่งอยู่ในแผนการเดินทางของเราก็คือ เมืองอัครา สถานที่ตั้งของทัชมาฮาลอันล่ำลือและอนุสรณ์สถานมากมาย แต่ก่อนจะถึงอัครา เรามีที่หมายอีกที่หนึ่งนั่นก็คือ Chand Baori Step Well ซึ่งอยู่ห่างจากจัยปูร์ประมาณ สองถึงสามชั่วโมง
Chand Baori Step Well
บ่อน้ำขั้นบันไดระหว่างทางไป อัครา Chand Baori เป็นบ่อน้ำที่เก่าแก่ที่สุดและลึกที่สุดในอินเดีย รอบบ่อมีบันไดกว่า 13 ชั้นและมีความลึกถึง 30 เมตรตรงกลางเป็นซุ้มที่ดูเก่าแก่ เรียกได้ว่า ยิ่งใหญ่มาก ตลอดทางเดินรอบๆ มีศิลปะวัตถุในแบบฮินดูตั้งอยู่ทั่วรายทาง ในตอนที่เราไปนั้น มีการประกอบพิธีกรรมเล็กๆ ของชาวฮินดี ซึ่งหากใครอยากประกอบพิธีกรรมหรือแต้มจุดสีแบบชาวฮินดีเค้าก็ยินดีทำให้เลย
Who says I can’t get stoned
Who says I can’t be free
From all of the things that I used to be
Rewrite my history
Who says I can’t be free
— John Mayer
สถานที่สำคัญของ Agra ส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ไกลกันมานัก โดยตั้งอยู่เรียงรายกันไปตามแนวแม่น้ำยมุนา หากจัดการเวลาดีๆ ก็อาจจะสามารถเที่ยวสถานที่สำคัญเหล่านี้ได้หมดภายในวันเดียวเหมือนกัน เราเริ่มวันด้วยการตื่นแต่เช้าตรู่เพราะหวังว่าจะได้ดู Taj Mahal ในช่วงเวลาที่สวยที่สุดของวันในตอนพระอาทิตย์เริ่มโผล่ขึ้นฟ้าได้ และช่วงเวลาที่เราเลือกจะออกจากที่พักก็คือ ตีห้าครึ่ง !
Taj Mahal
ค่าเข้า 750 รูปี หากมีพาสปอร์ตไทยลดเหลือ 500 รูปี
หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก อนุสรณ์ความรักที่มีประวัติแสนเศร้า ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างเดินทางมาเพื่อยลโฉม ทำให้แม้จะเช้าตรู่แค่ไหนเราก็ยังต้องต่อแถวยาวเหยียดเพื่อเข้าไปข้างในอยู่ดี แต่ใช่ว่าทัชมาฮาลจะสวยแค่เพียงด้านใน ที่นี่นั้นสวยตั้งแต่ประตูทางเข้าเลยหละ ประตูสีแดงที่มีรายละเอียดมากมาย ทำให้เราหยุดถ่ายรูปเพื่อฆ่าเวลา รอเข้าไปทัชมาฮาลตอนที่เค้าเปิดประตู
เมื่อมองผ่านซุ้มประตูสีแดงขนาดใหญ่ จะเห็นอาคารสีขาวนวลเด่นเป็นสง่าอยู่แต่ไกล พร้อมกับคลื่นของเหล่านักท่องเที่ยวที่ทยอยกันมามากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากผ่านสวนชาร์บาคห์และเข้าสู่ตัวอาคาร Taj Mahal ทุกคนต้องถอดรองเท้าซึ่งมีบริการรับฝาก หรือใช้ถุงคลุมรองเท้าที่ได้มาตอนซื้อตั๋วใส่คลุมรองเท้าเสียก่อน ถึงจะเข้าไปข้างในได้
“ Let the splendor of diamond, pearl and ruby vanish?
Only let this one teardrop, this Taj Mahal,
glisten spotlessly bright on the cheek of time, forever and ever.”
― Rabindranath Tagore
Do you ever build castle in the air?
Here is one.
Brought down to earth and fixed for the wonder of ages.
― Bayard Taylor
Taj mahal เป็นสุสานที่สร้างขึ้นจากหินอ่อนทั้งหลัง รายละเอียดลวดลายต่างๆ คือเทคนิค Pietra Dura ซึ่งเป็นเทคนิคการแกะสลักที่มีความเฉพาะตัว โดยการฝังอัญมณีสีสันต่างๆ ลงบนแผ่นหินอ่อน เราพยายามเพ่งมันอย่างพิจารณาระหว่างที่ไกด์เล่าเรื่องราวต่างๆ จากความยากของการแกะสลักหินเหล่านี้นั้น คิดแล้วว่ามันช่างเป็นงานที่ประณีตเสียจริงๆ
ภายในตัวสุสานตกแต่งอย่างเรียบง่ายมีเพียงฉากกั้นและแท่นแสดงตำแหน่งฝังพระศพ ซึ่งศพจริงๆ จะอยู่ลึกด้านล่างลงไป ลวดลายโดยรอบคือเทคนิค Pietra Dura ซึ่งแกะหินเป็นภาษาอาหรับ ไม่นานไกด์ก็บอกกับเราว่ามันคือหนึ่งในบทของ อัล-กุรอานในศาสนาอิสลาม ที่ชื่อว่า ‘ยาซีน’ ซึ่งพอฟังจบยิ่งทำให้เรารู้สึกขนลุกในการบรรจงทำสิ่งต่างๆ ขึ้นมา เฝ้านึกถึงความรักที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มันช่างรังสรรค์ทุกอย่างอย่างที่ใจนึกได้จริงๆ
“LOVE is not love
Which alters when it alteration finds,
Or bends with the remover to remove:
O no; it is an ever-fixed mark,
That looks on tempests, and is never shaken;
It is the star to every wandering bark,
Whose worth’s unknown, although his height be taken.
LOVE’s not Time’s fool,”
― William Shakespeare
จักรพรรดิชาลจาฮาล มีแผนที่จะตกแต่งทัชมาฮาลไปเรื่อยๆ รวมถึงต้องการสร้างทัชมาฮาลสีดำของตัวเอง ทำให้กินงบประมาณบ้านเมืองไปมาก เมื่อเห็นแบบนั้นบุตรชายจึงยึดอำนาจและนำไปขังไว้ที่ Agra Fort
AGRA FORT
ค่าเข้า สามารถใช้บัตรเดียวกับที่เข้าชมทัชมาฮาล เพื่อลดเหลือ 30 รูปี
ป้อมปราการขนาดใหญ่เป็นทั้งที่ว่าการและที่พำนักของหลายจักรพรรดิ มีจุดเด่นด้านงานสถาปัตยกรรมจากหินทรายสีแดงแสนสวย ภายในแบ่งออกเป็นหลายส่วน มีทั้งสวนสวรรค์ พลับพลารวมไปถึงท้องพระโรงหลายแห่ง เราใช้เวลาอยู่ที่นี่กว่าสองชั่วโมงครึ่งแต่ก็ยังรู้สึกว่า ยังเที่ยวชมที่แห่งนี้ได้ไม่ทั่วอยู่ดี
เรื่องราวสุดเศร้าของที่นี่คือพระเจ้าชาร์จาฮาลได้สิ้นพระชนม์ ณ ที่แห่งนี้ พร้อมกับการนั่งมองทัชมาฮาลจากที่ไกลๆ ถือว่าเป็นเรื่องราวที่น่าเจ็บปวดอยู่ไม่น้อย แต่ปัจจุบันที่นี่และทัชมาฮาลก็กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้อย่างดีให้กับชาวอินเดียเมืองนี้เลย
“There are some parts of the world that, once visited,
get into your heart and won’t go. For me, India is such a place.
When I first visited, I was stunned by the richness of the land, by its lush beauty
and exotic architecture, by its ability to overload the senses with the pure,
concentrated intensity of its colors, smells, tastes, and sounds.
It was as if all my life I had been seeing the world in black and white and,
when brought face-to-face with India,
experienced everything re-rendered in brilliant technicolor.”
― Keith Bellows
BABY TAJ ( ITIMAD-UD-DAULAH )
ค่าเข้า 110 รูปี แต่ใช้ตั๋วของทัชมาฮาลลดเหลือ 10 รูปีได้
ITIMAD-UD-DAULAH หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในชื่อ Baby Taj คืออนุสรณ์สถานและที่ตั้งพระศพของพ่อตาและแม่ยายองค์จักรพรรดิจาฮาน รูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวอาคารมีห้องต่างๆ รอบทิศและเป็นหินอ่อนเช่นเดียวกันกับทัชมาฮาล แต่ที่โดดเด่นกว่าคือ การประดับตกแต่งลวดลายต่างๆ ไว้อย่างวิจิตรงดงาม ทั้งงานจิตรกรรม และงานฝังอัญมณีหรือ Pietra Dura รอบตัวอาคารเป็นสวนดอกไม้หลากสายพันธุ์ ถัดไปหน่อยคือกำแพงหินทรายสีแดงล้อมรอบ สำหรับคนที่ชอบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แล้วล่ะก็ เราแนะนำว่าไม่ควรพลาดที่นี่
เรายกให้ Baby Taj คือสถานที่ที่เราชอบมากที่สุดในอัคราเลยล่ะ แม้ว่าที่นี่จะไม่ได้ใหญ่โตหรืออลังการแบบสถานที่อื่นของเมือง แต่เรากลับรู้สึกว่ากว่าจะออกมาเป็น Baby Taj แห่งนี้ได้นั้นเหล่าช่างผู้สร้างสรรค์ต้องตั้งใจกันอย่างมากแน่ๆ ตลอดจนด้วยขนาดและรายละเอียดที่เราเห็นนั้น ทำให้ Baby Taj เป็นที่ที่น่ารักมากที่หนึ่งสำหรับเรา
Fatehpur Sikri
ค่าเข้า 30 รูปี
ฟาเตห์ปูร์สิกรีเมืองร้างบนยอดเขาแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอักบาร์ เพื่อใช้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่หลังจากย้ายมาได้ไม่นานเพียง 13-14 ปี เมืองแห่งนี้ก็ต้องถูกปล่อยให้ร้างเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ แม้จะเป็นเมืองใหญ่แค่ไหน เมื่อไม่มีน้ำใช้เพียงพอก็ไม่มีใครสามารถอาศัยอยู่ได้ ปัจจุบันเมืองร้างฟาเตห์ปูร์แห่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งที่ท่องเที่ยวชื่อดังอีกที่หนึ่งเหมือนกัน เพราะการที่ไม่มีกิจกรรมหรือผู้ใช้ รวมถึงมีการดูแลจากรัฐบาล ทำให้แม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี เหล่าโบราณสถาน สถาปัตยกรรมจากหินทรายแดงเหล่านี้ ยังคงความงดงามและมีรายละเอียดที่สมบูรณ์มาจนถึงทุกวันนี้
PUSHKAR
“If there is one place on the face of earth
where all the dreams of living men have found a home from
the very earliest days when man began the dream of existence,
it is India!”
― Romaine Rolland
แรกเริ่มที่เราวางแผนการเดินทาง เรามองพุชก้าเป็นเพียงเมืองทางผ่านระหว่าง จอดปูร์และชัยปุระ คิดว่ามีสิ่งที่น่าสนใจเพียงแค่ Pushkar Camel Fair ที่บังเอิญจัดขึ้นในช่วงที่เราไปพอดี เราจึงตั้งใจว่าให้พุชก้าเป็นจุดพักรถก่อนเดินทางไปยังเมืองอื่นต่อ
คำเชิญจากพุชก้า ส่งถึงเราผ่านนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งบังเอิญพักที่เดียวกันกับเรา ในตอนที่พวกเราคุยกันถึงจุดหมายต่อไปของการเดินทางนั้น เราบอกเธอไปว่า เรากำลังจะไปพุชก้า เธอแสดงออกถึงความตื่นเต้น และพูดให้เราฟังถึงความประทับใจต่างๆ ที่เธอได้เจอใน Pushkar Camal Fair พร้อมกับกล่าวอย่างเสียใจว่า เธอเสียดายที่มีเวลาอยู่ที่นั่นเพียงแค่สองวัน พร้อมกันกับเช้าวันต่อมาที่คุณโซฮันคนขับรถของเราแนะนำกับพวกเราว่า ให้รีบเดินทางไปพุชก้า จะได้มีเวลาอยู่ที่นั่นนานๆ หลังจากได้รับเรื่องราวของ
พุชก้าจากหลายทางมันจึงเกิดเป็นความสงสัยในใจเราว่า “มันจะดีขนาดไหนกันนะ”
หลายๆ อย่างที่พบเจอทำให้เรากลับมาที่นี่อีกครั้งในวันที่แปดของการเดินทาง เรามาถึงที่นี่ตั้งแต่บ่ายเช่นเดิม และเริ่มเดินเล่นไปตามตัวเมืองพุชก้า ที่นี่เหมือนเป็นเมืองการค้าเล็กๆ ทำให้มีผู้คนและนักท่องเที่ยวคับคั่ง ตลอดเส้นทางเราได้รับรอยยิ้มและคำทักทายจากผู้คนที่เดินผ่านไปมาอย่างอบอุ่น
“Indians are the Italians of Asia and vice versa. Every man in both countries is a singer when he is happy, and every woman is a dancer when she walks to the shop at the corner. For them, food is the music inside the body and music is the food inside the heart.
Amore or Pyar makes every man a poet, a princess of peasant girl
if only for second eyes of man and woman meets.”
― Gregory David Roberts, Shantaram
พอเข้าช่วงบ่ายแก่ๆ ชาวเมืองพุชก้าจะเริ่มทยอยกันไปที่ Pushkar Lake แลนด์มาร์คสำคัญของเมืองพุชก้าที่เป็นทั้งบริเวณประกอบศาสนพิธี รวมถึงเป็นย่านร้านอาหาร ที่พักซึ่งมีวิวทะเลสาบเป็นจุดขายอีกด้วย
พอท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีส้ม ผู้คนก็เริ่มทยอยกันมามากขึ้น บางคนก็เริ่มอาบน้ำ บางคนก็ไปสวดภาวนาตามความเชื่อ บางคนกระโดดน้ำเล่นกันก็มี เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมผู้คนที่ได้มาพุชก้าถึงหลงไหลในบรรยากาศที่ได้พบ ณ สถานที่แห่งนี้ เพราะความหลากหลายในชีวิตและการใช้ชีวิตของผู้คนที่นี่ มันน่าสนใจมากจริงๆ (บริเวณทะเลสาบพุชก้าเป็นพื้นที่ที่คนที่นี่ให้ความเคารพ จึงต้องถอดรองเท้าไว้ข้างนอกไม่ก็ต้องหาถุงหรือผ้ามาห่อรองเท้าไว้ด้วยนะตอนเดิน)
Pushkar Camel fair
เมื่อเรามาถึงพุชก้า รถเราค่อยๆ เคลื่อนผ่านงาน Pushkar Camal Fair อย่างช้าๆ บรรยากาศข้างถนนคือซุ้มและแคมป์จำนวนมากที่เต็มไปด้วยม้า และอูฐ เรายอมรับว่าตอนนั้นเรายังไม่ได้สนใจเทศกาลนี้ขนาดนั้น อาจด้วยอากาศที่ยังร้อนเกินไปจนไม่อยากลงจากรถ ทำให้เราเลือกไปเที่ยวยังตัวเมืองวัดที่อยู่บนยอดเขาของเมืองนี้ก่อน
จากที่สูงเราจึงเริ่มเห็นความยิ่งใหญ่ของงานเทศกาล และการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย เมื่อตะวันเริ่มตกลง เหล่าพ่อค้าอูฐ ก็เริ่มต้อนฝูงอูฐฝูงใหญ่ให้ไปรวมตัวกัน ผู้คนทยอยออกมากันอย่างคับคั่ง ควันจากกองไฟของคาราวานพ่อค้าเริ่มโชยขึ้นมาตามจุดต่างๆ ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีส้ม บรรยากาศหลายๆ อย่างเริ่มดึงดูดให้เราเข้าไปหา ก่อนพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า เราก็มาถึงกลางลานกว้าง จุดที่คาราวานต่างๆ นำฝูงอูฐมารวมกัน บรรยากาศและทิวทัศน์ในตอนนั้น ขับความมีเสน่ห์ของที่นี่ขึ้นมาอีกหลายเท่าตัว
เราเดินผ่านไปตามฝูงอูฐ และพ่อค้า แสงที่ใกล้ลับ ทำให้เราไม่สามารถลั่นชัตเตอร์ตามใจชอบได้อีก ไม่นานมากทุกอย่างรอบตัวเราเริ่มมืดสนิท เราอาศัยไฟฉายจากโทรศัพท์คลำทางไปเรื่อยๆ ที่แน่ๆตอนนี้เราหาเพื่อนไม่เจอ เพราะต่างคนต่างแยกย้ายกันเดิน
เรื่องราวต่างๆของเรา เกิดขึ้นที่พุชการ์มากมาย ความประทับใจเรียกร้องให้เรากลับมาอีกครั้งแม้เวลาจะเหลือน้อยเต็มที เราขึ้นมาบนรถพร้อมเรื่องเล่าหลากหลายเรื่องราว แต่ละคนพอหันหลังให้กัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็ย่อมต่างกันออกไปแล้ว สำหรับเราพุชการ์เป็นเมืองที่ประทับใจที่สุด จนเราขออนุญาตยกไปเขียนอีกพาร์ทนึงนะ 🙂
Bagru
A House of Traditional Hand Block Print
ที่สุดท้ายของทริปครั้งนี้ คือหมู่บ้าน Bagru จริงๆ ที่นี่เป็นที่ที่เราอยากมามากๆ เพราะเราและเพื่อนคลั่งไคล้ในงานผ้าและงาน Craft มากๆ ส่วนตัวชอบการย้อมผ้าสีธรรมชาติ และที่นี่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดการย้อมผ้าและบล็อคปริ้นท์ที่ทำจากไม้เลยก็ว่าได้
แต่ข่าวร้ายคือวันที่เรามาถึงดันเป็นวันสำคัญของหมู่บ้านและเป็นช่วงที่เค้าหยุดงานกันพอดี กว่าจะเริ่มทำงานกันอีกทีคืออีกสองวันถัดไปเลย เราเลยต้องออกไปอีกหมู่บ้านนึงที่ชื่อว่า Sanganer แต่ก่อนจะออกไปมิสเตอโซนก็พาเรามาที่อีกโรงงานนึง ไม่ไกลจากหมู่บ้านมาก ที่นี่ก็เป็นแฮนเมดเช่นกัน แต่มีผ้าขายในราคาส่ง ที่สำคัญถูกมาก เราหมดไปเกือบ 6,000 เพราะเราแพ้ทางผ้าย้อมครามมากๆ ยิ่งลายพิมพ์เป็นบล็อคไม้พิมพ์เอง เราไม่พลาดที่จะซื้อกลับมาเป็นของฝากเลย
YOU CAN’T BUY LOVE,
BUT YOU CAN BUY HANDMADE
AND THAT’S KIND OF THE SAME THING.
Sanganer
หมู่บ้าน Sanganer ห่างจากชัยปุระออกไปราวสิบกว่ากิโลเมตร อีกหมู่บ้านหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับผ้าพิมพ์บล็อกไม้ แต่ที่นี่จะเน้นเป็นอุตสาหกรรมมากกว่า แต่ก็มีการแกะบล็อคไม้เอง เราไล่เรียงเดินดูไม้ที่เค้าแกะแล้วเก็บไว้เยอะมาก ส่วนตัวเราเรียนภาพพิมพ์มาตอนที่อยู่มหาลัย เลยทำให้ค่อนข้างอินกับที่นี่เป็นพิเศษ ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ทำให้เราย้อนหวนนึกกลับไปเมื่อตอนเรียน แต่ที่นี่มีความเป็นจิตวิญญาณอยู่สูงมาก เราเห็นความตั้งใจในทุกขั้นตอน ความปราณีต ความเป็นต้นฉบับ ทำให้เราเดินเล่นอยู่ในนี้นานเลยทีเดียว
สำหรับเราการเดินทางมาอินเดียในครั้งนี้ก็ไม่ได้เหมือนเมื่อครั้งก่อน แต่อินเดียที่เราเห็นครั้งนี้นั้นยังคงมีเสน่ห์ในแบบที่เราเคยหลงไหลมันอยู่เช่นเคย ผู้คนอันแสนเป็นมิตร ทุกครั้งที่เดินผ่านหรือยิ้มให้เรายังคงได้รับการทักทายตลอดจนรอยยิ้มกลับมาเสมอ สิบวันที่อินเดียของเราผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอรู้ตัวอีกทีเรื่องราวในครั้งนี้ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวปลีกย่อยไว้ให้เราเล่าต่ออีกหลายเรื่องเลย
หลายคนถามเราหลังจากกลับมาว่า อินเดียดีไหม สำหรับเรา เราคงให้คำตอบออกไปไม่ได้ว่ามันดีขนาดไหน แต่ทุกอย่างที่เราได้รับจากที่นี่ ทุกเรื่องเป็นเรื่องที่มีค่า หลายเรื่องคือเรื่องที่เราประทับใจมากๆ และคงไม่ลืมมันง่ายๆ แน่นอน แต่หากเปลี่ยนคำถามมาถามเราว่า ควรจะไปอินเดียไหม เราสามารถตอบกลับไปได้อย่างมั่นใจเลยว่า ควรอย่างยิ่ง เพราะเราเชื่อว่าทุกคนที่ได้ไปสัมผัสอินเดีย ย่อมพบเจอเรื่องราวที่ต่างกันไป ซึ่งหากโชคดีเรื่องราวที่ได้เจอนั้นอาจเปลี่ยนมุมมองชีวิตหรือความคิดแบบเดิมๆ ที่เคยมีไปได้เลย
เรายังมีเรื่องเล่าอีกเยอะมากเลยนะ เราจะแบ่งพาร์ทออกไปอีกพาร์ทนึงละกัน ส่วนนี้ขอไว้ให้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับคนที่สนใจจะไป แล้วพบกันใหม่นะ
With love,
From Mars