Time
/tīm/
noun
— the indefinite continued progress of existence
and events in the past, present, and future regarded as a whole.
Light
/līt/
noun
— the natural agent that stimulates sight
and makes things visible.
Space
/spās/
noun
— a continuous area or expanse which is free,
available, or unoccupied.
ISLANDS OF ART
‘FROM NAOSHIMA TO TESHIMA’
หลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อของเกาะนาโอชิมะ
เกาะศิลปะที่ตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัด Kagawa ประเทศญี่ปุ่น
เราตั้งใจอย่างมากเพื่อเดินทางมายัง Naoshima และ Teshima
สองเกาะหลักอันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ สถาปัตยกรรมและผลงานศิลปะแนวร่วมสมัยอีกมากมาย
ที่กระจายตัวอยู่ทั่วภูมิทัศน์ของเกาะความลงตัวระหว่างงานศิลป์และธรรมชาติถูกออกแบบ
จัดวางให้ออกมาอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวทำให้เรายังเห็นเสน่ห์ของวิถีชีวิต
แบบชนบทดั้งเดิมของผู้คนบนเกาะบรรยากาศอันเงียบสงบ สวยงาม
Naoshima (直島)
การเดินทางมายังเกาะนาโอชิมะ สามารถข้ามมาได้โดยการนั่งเรือจากท่าเรือ Uno
มาลงที่ Miyanoura Port โดยใช้เวลาเพียง 15 นาที
สำหรับที่ Naoshima สิ่งที่คุ้นตากันคงเป็นเจ้าฟักทองลายจุดของ Yayoi Kusama
แต่จริงๆ แล้วบนเกาะนี้รวบรวมผลงานของศิลปินระดับโลกไว้อีกมากมาย หลายพิพิธภัณฑ์และ
Art Project, Gellery, Installation Art กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งเกาะ
Chichu Art Museum (地中美術館)
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Chichu ผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมอันงดงามของ Tadao Ando
สถาปนิกชาวญี่ปุ่นชื่อดัง ผลงานของอันโดะแฝงไปด้วยปรัชญา ทัศนคติแบบญี่ปุ่น
ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ชีวิตกับธรรมชาติ
ลายเซ็นอันเด่นชัดของอันโดะจึงเป็นการหลอมรวมธรรมชาติเข้าไว้กับสถาปัตย์
อาคารทรงเลขาคณิตที่มีโครงสร้างเป็นกำแพงคอนกรีตเปลือยหนาอันเรียบเนียน
ถูกเว้นช่องและเจาะรูอย่างเท่าๆ กันโดยจงใจ ภายในถูกจัดวางองค์ประกอบมาแล้วอย่างดี
การปล่อยให้แสงธรรมชาติเข้ามาทำงานภายในได้อย่างนุ่นนวล และประณีต
ไปถึงช่องว่างเพื่อให้อากาศได้ไหลเข้ามาสู่ภายในอาคาร เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ด้านใน
ยังคงสัมผัสได้ถึงลมธรรมชาติ อีกทั้งลมยังเป็นเหมือนสื่อกลางนำมาซึ่งเสียงบรรยากาศภายนอก
เพราะยามที่ลมพัดโชยมา เราจะได้ยินเสียงใบไม้ปลิวกระทบกัน
เสียงแผ่วๆ ของอากาศที่เคลื่อนไหวมาตามช่องลม
นั่นเองทำให้ผลงานของอันโดะไม่ได้มีแง่งามแค่เพียงสถาปัตยกรรมแบบ Minimal
ที่มองได้จากภายนอกแต่กลไกของวิธีคิดอย่างลึกซึ้งในการปล่อย
ให้ธรรมชาติกลายเป็นเสียงอธิบายความงามและความมีชีวิตทั้งหมดนั่นเอง
ทำให้ Tadao Ando กลายมาเป็นสถาปนิกอันดับหนึ่งในใจของเราไปได้อย่างง่ายดาย
“I don’t believe architecture has to speak too much.
It should remain silent and let nature in the guise of sunlight and wind.”— Tadao Ando
ที่ Chichu Art Museum เป็นหัวใจหลักในการมาเกาะนาโอชิมะของเรา
ที่พิพิธภัณฑ์นี้จัดแสดงผลงานจากศิลปินเพียงแค่สามคนเท่านั้น
คือ Monet, James Turrell และ Walter de Maria
ผลงานแต่ละชุดของแต่ละคนถูกจัดอยู่บนพื้นที่ ที่อันโดะตั้งใจออกแบบมาเพื่อผลงานนั้นๆ โดยเฉพาะ
สถาปัตยกรรมจึงเข้ามาช่วยส่งเสริมให้งานศิลปะและคนดูเข้าถึงกันได้มากที่สุด
ทุกอย่างทำงานออกมาได้อย่างถูกต้อง กลายเป็นบริบทที่ลงตัวแบบหาที่ติไม่ได้เลย
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทำลายกำแพงการดูงานแบบศิลปะแบบเก่าๆ ไปอย่างสิ้นเชิง
Claude Monet Room
—
Water-Lily Pond C.1915-26 / Water Lilies, Cluster of Grass (1914-17) / Water Lilies (1914-17) /
Water-Lily Pond (1917-19) / Water Lilies, Reflections of Weeping Willows (1916-19)
ทั้งห้องจัดแสดงเพียง 5 ภาพวาด จากคอลเลกชั่น Water Lilies ของ Claude Monet
จิตรกรอิมเพรสชั่นนิสต์ผู้ยิ่งใหญ่ที่หลายคนรู้จัก
ภาพวาดที่สะท้อนแง่งามจากการเพลิดเพลินกับแสงธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์
สิ่งที่เราประทับใจที่สุดไม่ใช่แค่ภาพวาดบึงบัวตรงหน้า แต่การจัดวาง ขนาดของห้อง
การออกแบบของวัสดุที่ใช้ทั้งหมดได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดี
เพื่อให้ภาพวาดโมเนต์ทำงานร่วมกับพื้นที่โดยรอบ
แม้ภาพดอกบัวเหล่านี้จะไม่ใช่ชิ้นเอกที่โด่งดังก็ตาม
แต่องค์ประกอบที่ Ando จับมารวมกันส่งให้ภาพของโมเนต์ดูแล้วราวกับจะมีชีวิต
Ando ทำความเข้าใจ impressionism ได้เป็นอย่างดี
และเข้าถึงหัวใจของศิลปะแห่งความงดงามของประกายแสงและสี
หากสังเกตุแล้ว ห้องสี่เหลี่ยมนี้ถูกลบเหลี่ยมมุมออกทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดเงารบกวนสายตา
และยังจัดไฟแสดงด้วยการใช้แสงธรรมชาติ ใช่ แสงเดียวกับที่โมเนต์ใช้วาดดอกบัวนี่แหละ
แดดแต่ละช่วงในหนึ่งวัน ทำงานกับพื้นผิวภาพและรอยแปรงที่เต็มไปด้วยสีสันที่แปรเปลี่ยน
พื้นกระเบื้องแผ่นจิ๋วที่ปูเรียงกันอย่างปราณีตคอยซับเสียงฝีเท้า
ไม่ให้เป็นการรบกวนในการเสพสุนทรีย์ศิลปะ
James Turrell
—
Afrum, Pale Blue (1968) / Open Field (2000) / Open Sky (2004)
ศิลปินผู้นำเสนองานศิลปะด้วยแสง
Turrell สร้างประสบการณ์ร่วมที่ให้ได้เราสัมผัสพื้นที่ว่างด้วยผัสสะของดวงตา
ในขณะเดียวกับก็เปลี่ยนประสบการณ์การรับรู้ของเราไปด้วย
“My work is more about your seeing than it is about my seeing,
although it is a product of my seeing.
I’m also interested in the sense of presence of space;
that is space where you feel a presence, almost an entity —
that physical feeling and power that space can give.”
เสน่ห์ในงานของ Turrell นั้นคือศิลปะที่ดึงดูดผู้ชมด้วยขีด จำกัด
และความพิศวงในการรับรู้ของมนุษย์
มันเป็นประสบการณ์ร่วมที่ทำงานระหว่างงานและคนเสพโดยเฉพาะ
ที่แต่ละบุคคลก็จะมีการตีความที่ต่างกันออกไป
ผลงานของ Turrell มีสื่อเป็นแสงธรรมชาติบริสุทธิ์ นั้นแหละ
เพดานช่องสีเหลี่ยม ที่ให้เรามองเห็นท้องฟ้าที่เปลี่ยนไปไม่เคยซ้ำกัน
ท้องฟ้าคือผืนผ้าใบของ Turrell
— The Nigh Program : Open Sky —
คืองานแสดงของ James Turrell ที่จัดขึ้นหลังพระอาทิตย์ตก
ที่ใครมีเวลาเราแนะนำไม่อยากให้พลาดเลย
ห้องจัดแสดงเดิม กับเพดานช่องสีเหลี่ยมเดิม
แต่แสงพอตกเย็นรอบห้องจะจัดแสดงแสงในหลากหลายเฉดสี และค่อยๆ เปลี่ยนไป
ฟังแล้วมันอาจดูธรรมดา แต่ถ้าเราได้ลองใช้เวลากับท้องฟ้าผ่านช่องสี่เหลี่ยมนี้
ทุกนาทีที่เปลี่ยนไปมันจะไม่ซ้ำกันเลย
การทำงานทางกายภาพของแสงทางประสาทสัมผัสการมองเห็นของตามนุษย์
สีของท้องฟ้าถูกผสมกับสีของแสงภายในห้องด้วยดวงตาของเราเอง
แม้สีเดิมจะวนกลับมาแต่กระนั้นท้องฟ้าก็ไม่ใช่สีเดิมอีกแล้ว
“My work has no object, no image and no focus.
With no object, no image and no focus,
what are you looking at? You are looking at you looking.
What is important to me is to create an experience of wordless thought.”
— James Turrell
Walter De Maria
—
Time/Timeless/No Time , 2004
พื้นที่จัดแสดงงานประติมากรรมโดย Walter De Maria
เราจะมองเห็นลูกบอลสีดำทรงกลมที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.2 เมตร
ตั้งอยู่กลางห้องเหนือบันไดขึ้นไปและรายล้อมด้วย
แท่งไม้ปิดทองรูปทรงเรขาคณิต 27 ชิ้น กระจายทั่วห้อง
ผลงานที่เล่นกับความสัมพันธ์ของพื้นที่และสถาปัตยกรรม
แสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามาทำให้แต่ละชั่วโมงในห้องเปลี่ยนไป
ผลงานที่น่าประทับใจของ De Maria ได้รับการกระตุ้นอย่างตั้งใจของ Ando
ที่สร้างขึ้นในแกลเลอรีที่แม้จะมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งสองศิลปินมีความความเข้าใจที่ลึกซึ้ง
ในรายละเอียดของความว่างเปล่าและความงดงามของความเรียบง่าย
ก่อเกิดประสบการณ์ทางกายภาพที่ทรงพลังและละเอียดอ่อนเมื่อสถาปัตยกรรมถูกเชื่อมต่อเข้า
กับจิตวิญญาณ ภายใต้สถานที่ที่เหมาะสม การกระทำที่เหมาะสม และเวลาที่เหมาะสม
ทั้งหมดนี้เป็นงานหลักที่จัดแสดงถาวรที่ Chichu Art Museum
น่าเสียดายเล็กน้อยที่ทางพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปได้เลย
แต่เราก็เข้าใจถึงจุดประสงค์ได้ว่าศิลปินคงอยากให้คนเสพมาเปิดประสบการณ์ร่วม
ในพื้นที่จริงมากกว่าเพราะเอาจริงๆ ทุกผลงานไม่สามารถทำแค่ดูผ่านแค่รูปได้เลย
เจอของจริงประทับใจกว่ามากๆ เราแนบลิงค์ของพิพิธภัณฑ์เอาไว้ให้แล้ว
https://benesse-artsite.jp/en/art/chichu.html
หรือลองเอาชื่อของศิลปินหรือผลงานที่เราเขียนไว้
ไปลองค้นหาในเว็บไซต์ต่างๆ ดูประกอบไปด้วยก็ได้นะ
Chichu Cafe
คาเฟ่เล็กๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ ที่เราสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่งดงามของทะเล Inland
ที่นี่มีลานเปิดโล่งให้เราเอาอาหารออกไปนั่งทาน หรือเดินเล่นชมวิวของเกาะจากมุมสูงได้
ชา earl gray เติมนมร้อนๆ ช่วยให้ร่างกายอุ่นขึ้นมาหน่อย
กลิ่นชาหอมอ่อนๆ ทำให้เราผ่อนคลายและเพลินไปกับวิวข้างหน้า
Benesse House Museum (ベネッセハウス ミュージアム)
Benesse House Museum คือพิพิธภัณฑ์ที่รวมเข้ากับโรงแรมตามแนวคิด
“การอยู่ร่วมกันของธรรมชาติศิลปะและสถาปัตยกรรม”
ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังอย่าง Tadao Ando จากตัวอาคารแห่งนี้
สามารถมองเห็นทะเล Seto Inland Sea ได้อย่างงดงาม
ในส่วนของพิพิธภัณฑ์มีจัดแสดงภาพวาด ประติมากรรม ภาพถ่าย ที่คอยหมุนเวียนแล้ว
ยังมีชิ้นงานถาวรที่ศิลปินได้สร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับอาคารด้วย
งานศิลปะจะถูกจัดวางอยู่ในทุกส่วนของอาคารตลอดจนกระจัดกระจายตามชายทะเลในป่าใกล้เคียง
สำหรับที่ Benesse House Museum ก็เช่นกัน
ในส่วนของผลงานศิลปะต่างๆ ที่จัดแสดง ทางพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปได้
เราเลยแนบลิงค์ของ Benesse House Museum มาไว้ให้แทน
https://benesse-artsite.jp/en/art/benessehouse-museum.html
บรรยากาศเรียบง่าย รอบๆ ของเกาะนาโอชิมะ
ธรรมดาแต่น่าประทับใจ ศิลปะร่วมสมัยถูกแทรกและดำเนินคู่ไปกับวิถีชีวิตของคนที่นี่ได้อย่างกลมกล่อม
Time And Space
and eyes beholding radiance,
and the gnats’ flickering dance,
and seas’ expand, and death, and chance.— Ursula K. Le Guin
TESHIMA (豊島)
พื้นที่ของเวลามีแตกต่างกันไป ความหมายของเวลาขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนให้คุณค่ากับมันยังไง
เวลาเดินไปข้างหน้าเสมอ งอกงามและไม่เคยถอยกลับ
ช่วงเวลาในชีวิตเองก็เช่นกัน ไม่เคยเกิดขึ้นซ้ำ
เหมือนแม่น้ำเราไม่สามารถสัมผัสสายน้ำเดิมได้เป็นครั้งที่สอง
และหากเรารู้จักใช้มันอย่างดีพอ เท่าที่มีก็เพียงพอมากมายแล้ว
Teshima อีกหนึ่งเกาะอันเงียบสงบของจังหวัด Kagawa
ด้วยกลิ่นอายชนบทริมทะเลแบบญี่ปุ่น
นอกจากวิถีชีวิตเรียบง่ายและทิวทัศน์สวยงามของที่นี่แล้วสิ่งที่ดึงดูดเราคือ
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Teshima Art Museum ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาบนเกาะ
ความลงตัวระหว่างธรรมชาติ สถาปัตยกรรม ศิลปะ ที่เป็นมากกว่างานศิลป์ไร้กรอบของเวลา
และขอบเขตของความหมาย แต่ยังคงซึ่งความสงบ นิ่ง งดงาม
Matrix ผลงานชิ้นเดียวของศิลปิน Rei Naito
และสถาปนิกที่ออกแบบพิพิธภัณฑ์นี้อย่าง Ryue Nishizawa
โครงสร้างอาคารทรงคล้ายหยดน้ำที่ประกอบด้วยคอนกรีตเปลือยหนาสีขาว
สถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายเชื่อมต่อกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน
ไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการไหลผ่านไปของฤดูกาลและเวลา
ช่องว่างที่ปล่อยให้ลมและแสงไหลเวียนเข้ามา
“Matrix” คือชื่อผลงานที่แฝงปรัชญาเอาไว้มากมาย แล้วแต่ใครตีความเข้าใจ
ภายในอาคาร น้ำจะไหลออกมาจากพื้นต่อเนื่องตลอดทั้งวัน
งานศิลปะชิ้นนี้ไม่เคยเหมือนเดิมสักวัน จากบริบทธรรมชาติรอบๆ ที่เปลี่ยนไป
ที่นี่สะท้อนให้เราเห็นความเป็นไปของความสงบแห่งกาลเวลา ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่มีที่สิ้นสุด
ถัดมาไม่กี่ก้าว ที่นี่มีคาเฟ่เล็กๆ ให้เรานั่งกินบรรยากาศต่ออีกหน่อย
ชาและขนมอร่อยมากๆ วัตถุดิบที่นำมาปรุงล้วนเป็นผลผลิตของเกษตกรบนเกาะนี้
เมื่อใช้เวลาที่นี่จนหนำใจแล้ว เราก็จำใจบอกลาเกาะเทชิมะไปด้วยเข็มนาฬิกาบอกว่า
ใกล้จะถึงรอบตารางเรือที่จะต้องนั่งกลับแล้ว
เราหลงรักที่นี่มากๆ สวยสงบ ผ่อนคลาย เรียบง่าย
แสงแดดคลอยต่ำไล่หลัง ฤดูหนาวทำให้เวลาของกลางวันสั้นลง
พระอาทิตย์ส่องแสงกระทบน้ำเป็นประกายสีทอง
เรือเราแล่นออกจากท่าพร้อมใจที่หวังว่าถ้ามีโอกาส
ก็อยากจะกลับมาใช้เวลาที่นี่ให้มากกว่านี้
การเดินทางมาที่ Teshima Island สามารถเดินทางได้จากทั้ง Uno Port
และจากเกาะ Naoshima และการเดินทางภายในเกาะสามารถเช่าจักรยานไฟฟ้าขี่
หรือจะนั่งรถบัสก็ได้ เราแนะนำให้ดูตารางเรือและรถบัสไว้ล่วงหน้า
วางแผนเวลาให้ดีเพื่อจะได้ชมเกาะได้อย่างเต็มที่
เพราะสำหรับที่ญี่ปุ่นเรื่องเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
ในการดูตารางการเดินทางเพราะไม่ว่าจะรถไฟ รถบัส
การขนส่งทุกอย่างของที่ประเทศนี้มาตรงตามเวลามากๆ
” Things will dissolve and release
and settle into space,
and you will find your place
in this vast and brilliant world.”—
With Love,
Mars